โลกร้อนกระทบเลือดทั่วโลก เสี่ยงขาดแคลนในยามฉุกเฉิน

ภายใต้เงื่อนไขของโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทุกวัน งานวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสารThe Lancet Planetary Healthได้เผยให้เห็นถึงความเสี่ยงครั้งใหม่ที่หลายคนอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อนนั่นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังคุกคามความต่อเนื่องและความปลอดภัยของระบบจัดหาเลือดทั่วโลก
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of the Sunshine Coast ร่วมกับองค์กร Australian Red Cross Lifeblood พบว่า สภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น โรคติดเชื้อที่แพร่กระจายง่ายขึ้น และปัญหาสุขภาพที่ซับซ้อน ล้วนส่งผลต่อ “ความสามารถในการบริจาค” และ “ความต้องการเลือด” ในระดับที่น่าเป็นห่วง
ดร. เอลวินา เวียนเนต์ หนึ่งในผู้วิจัย ระบุว่า สภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น เช่น คลื่นความร้อน น้ำท่วม ไซโคลน และไฟป่า ไม่เพียงแต่ขัดขวางการเดินทางของผู้บริจาคจำนวนมาก แต่ยังรบกวนการจัดเก็บและขนส่งเลือด ซึ่งมีอายุการเก็บรักษาสั้น ทำให้หลายพื้นที่เสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนเลือดโดยไม่ทันตั้งตัวหนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนคือ พายุไซโคลนอัลเฟรดในออสเตรเลีย ที่ส่งผลให้ปริมาณเลือดในประเทศลดลงอย่างมากเป็นครั้งแรก
ศาสตราจารย์เฮเลน แฟดดี หัวหน้านักวิจัยของโครงการ กล่าวว่า นี่เป็นการศึกษาแรกที่พยายามทำความเข้าใจทั้งระบบ ว่าสภาพอากาศเปลี่ยนไปจะส่งผลต่อแต่ละขั้นตอนของกระบวนการจัดหาเลือดอย่างไร ตั้งแต่สุขภาพของผู้บริจาค การคัดกรองเลือด การจัดเก็บ การประมวลผล ไปจนถึงการแจกจ่ายเลือด
งานวิจัยชี้ว่า ภูมิอากาศที่อุ่นและชื้นขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงในการระบาดของโรคจากยุง เช่น ไข้เด็งกี มาลาเรีย และไวรัสเวสต์ไนล์ โรคเหล่านี้สามารถถ่ายทอดทางเลือดได้ และหากระบาดในวงกว้าง จะทำให้ผู้ติดเชื้อไม่สามารถบริจาคเลือดได้
ในอีกด้านหนึ่ง สภาพอากาศที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงของโรคประจำถิ่น อาจทำให้ความต้องการเลือดสูงขึ้น เช่น การดูแลภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ โรคหัวใจ โรคเลือด รวมถึงอุบัติเหตุจากภัยธรรมชาติ
นอกจากนี้ ปัญหาการย้ายถิ่นฐานเนื่องจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น ยังทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมในแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจทำให้การหาเลือดที่ตรงกรุ๊ปและชนิดพิเศษยากขึ้น ยิ่งตอกย้ำความจำเป็นในการส่งเสริมให้มีผู้บริจาคจากหลากหลายเชื้อชาติมากขึ้น
นอกเหนือจากโรคติดเชื้อแล้ว ปัจจัยที่ดูเหมือนเล็กน้อยแต่สำคัญ เช่น ความดันโลหิตสูง ภาวะขาดน้ำ ความเครียดจากความร้อน และความวิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริจาค เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครในระบบสาธารณสุข
งานวิจัยนี้เน้นย้ำว่าโลกไม่สามารถพึ่งพาระบบจัดหาเลือดแบบดั้งเดิมได้อีกต่อไป หน่วยงานรัฐและองค์กรสาธารณสุขควรวางแผนล่วงหน้าด้วยแนวทางใหม่ที่ยืดหยุ่น เช่น การมีระบบเตือนภัยล่วงหน้า การติดตามโรคอย่างใกล้ชิด การปรับเกณฑ์การรับบริจาคให้เหมาะกับสถานการณ์ และการขยายจุดรับบริจาคเพื่อเคลื่อนย้ายได้รวดเร็วเมื่อเกิดวิกฤต
นวัตกรรมล่าสุดที่เริ่มถูกนำมาใช้ทั่วโลก ได้แก่ การใช้โดรนในการขนส่งเลือด การเก็บเลือดเฉพาะกิจในพื้นที่เกิดเหตุ (walking blood banks) หรือแม้แต่เทคโนโลยีการรีไซเคิลเลือดในระหว่างการผ่าตัด
เมื่อสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนเดิม ระบบสุขภาพก็ต้องไม่เหมือนเดิมเช่นกัน ระบบจัดหาเลือดที่ยืดหยุ่น ทันสมัย และมีแผนรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ คือสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในศตวรรษนี้ เพราะในที่สุดแล้ว “เลือด” ยังคงเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่ไม่สามารถสังเคราะห์ทดแทนได้ และการช่วยชีวิต...รอไม่ได้