รีเซต

เกาหลีใช้ “รอยพิมพ์จมูก” ระบุตัวสัตว์เลี้ยง แอปพลิเคชันใหม่ลดการฝังชิปในสัตว์

เกาหลีใช้ “รอยพิมพ์จมูก” ระบุตัวสัตว์เลี้ยง แอปพลิเคชันใหม่ลดการฝังชิปในสัตว์
TNN ช่อง16
6 มีนาคม 2566 ( 09:41 )
102
เกาหลีใช้ “รอยพิมพ์จมูก” ระบุตัวสัตว์เลี้ยง แอปพลิเคชันใหม่ลดการฝังชิปในสัตว์

เอาใจคนรักสัตว์เลี้ยงกับนวัตกรรมการระบุตัวตนสัตว์เลี้ยงแบบใหม่ เมื่อบริษัท เพ็ตนาว (Petnow) จากเกาหลีใต้ พัฒนาแอปพลิเคชันระบุตัวตนสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัข จาก “รอยพิมพ์จมูก” หวังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อดทดแทนการฝังไมโครชิป แท็ก และปลอกคอ ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงใช้ตามปกติ


ภาพจาก petnow

ปกติแล้ว จมูกของสุนัข จะมีลักษณะบ่งชี้ที่คล้ายคลึงกับลายนิ้วมือของมนุษย์ บริษัทจึงเอาจุดนี้ มาสร้างเป็นฐานข้อมูลไบโอเมตริกซ์ (Biometric) หรือฐานข้อมูลจากลักษณะเฉพาะทางชีวภาพของสัตว์เลี้ยงแต่ละตัว ซึ่งบริษัทมองว่า วิธีการนี้ จะช่วยให้เราเก็บข้อมูลและระบุตัวตนของสัตว์เลี้ยงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกับกรณีของสัตว์เร่ร่อน หลังพบสถิติในประเทศเกาหลีใต้ที่ในแต่ละปี จะมีสัตว์เลี้ยงประมาณ 100,000 ตัวถูกทอดทิ้งและน้อยกว่าร้อยละ 10 มีไมโครชิปติดตัว 


ดังนั้น ถ้าใช้การระบุตัวตนจากรอยพิมพ์จมูก ก็ไม่จำเป็นต้องมองหาเจ้าของจากปลอกคอ หรือจากไมโครชิป นอกจากนี้ยังเคลมว่าตัวแอปสามารถระบุตัวตนสัตว์เลี้ยงได้แม่นยำอยู่ที่ร้อยละ 98 อีกด้วย

ภาพจาก petnow

สำหรับการทำงานของแอปนั้นง่ายมาก สำหรับสุนัข เจ้าของเพียงแค่ถ่ายภาพหน้าตรงเห็นจมูกไว้ จากนั้นปัญญาประดิษฐ์ จะทำหน้าที่ประมวลผล และเก็บข้อมูลของสัตว์เลี้ยงตามที่เรากรอกไว้ ผูกเข้ากับภาพรอยพิมพ์จมูก ส่วนแมว ระบบจะใช้กระบวนการที่ต่างออกไปเล็กน้อย เพราะจมูกของมันอาจเล็กเกินกว่าจะระบุตัวตนได้ แต่ใบหน้าของแมวแต่ละตัวจะมีเอกลักษณ์ต่างกันไป ดังนั้นระบบจะใช้การจดจำจากลักษณะใบหน้าแมวแทน


ภาพจาก petnow

ดังนั้น พอใช้แอปสแกนไปที่จมูก หรือใบหน้าของสัตว์เลี้ยงครั้งต่อไป เราก็จะทราบข้อมูลเช่น ชื่อ วันเกิด อายุ ของสัตว์เลี้ยง รวมถึงสามารถใช้แอปเดียวกันแจ้งสัตว์หาย หรือ พบเจอสัตว์ที่หายไป เพื่อให้ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ในแอปติดตามสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้ด้วย


สำหรับแอปพลิเคชันนี้ได้สาธิตที่งานงาน Mobile World Congress งานแสดงเทคโนโลยีระดับโลกที่จัดขึ้น ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยตัวแทนของบริษัทกล่าวว่าตอนนี้มีเจ้าของสัตว์เลี้ยงกว่า 50,000 รายลงทะเบียนใช้งานแล้ว และหวังว่ารัฐบาลจะรองรับให้ระบบนี้เป็นหนึ่งในวิธียืนยันตัวตนสัตว์ได้ จะได้ช่วยลดการฝังชิปในสัตว์ได้มากขึ้น



ข้อมูลจาก taipeitimes, reut.rs

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง