รีเซต

"เด็กจมน้ำ" เปิดวิธีปฐมพยาบาล มีขั้นตอนอย่างไร ควรระวังอะไรบ้าง?

"เด็กจมน้ำ" เปิดวิธีปฐมพยาบาล มีขั้นตอนอย่างไร ควรระวังอะไรบ้าง?
TNN ช่อง16
18 สิงหาคม 2566 ( 10:25 )
121
"เด็กจมน้ำ" เปิดวิธีปฐมพยาบาล มีขั้นตอนอย่างไร ควรระวังอะไรบ้าง?

"เด็กจมน้ำ" เปิดวิธีปฐมพยาบาลอย่างไรให้เด็กปลอดภัยที่สุด ไขข้อสงสัยเมื่อเด็กฟื้นด้วยตัวเองได้แล้วทำไมยังจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลอีก?


เด็กจมน้ำ จากกรณีเกิดเหตุสะเทือนขวัญ นักเรียนระดับอนุบาลจมน้ำเสียชีวิตภายในสระว่ายน้ำที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจุดที่ตกลงไปนั้นเป็นจุดที่มีความลึก 1.30 เมตร โดยมีรายงานว่า เด็กคนดังกล่าวได้มีการมุดรั้ว ที่อยู่ในระหว่างการปรับปรุงเข้ามาในสระว่ายน้ำ ก่อนที่จะเดินมายังสระว่ายน้ำของนักเรียนระดับประถมศึกษา ด้วยความเคยชินที่เด็กเคยลงไปในสระว่ายน้ำจึงหย่อนขาลงไป แต่เป็นจุดน้ำลึก จึงทำให้จมน้ำโดยขณะนั้นไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ มีเพียงภาพจากกล้องวงจรปิดเท่านั้นที่สามารถบันทึกไว้ได้ จนกระทั่งมีคนมาพบจึงรีบนำตัวขึ้นจากสระว่ายน้ำ 


จากเหตุดังกล่าววันนี้ TNN Online จึงได้วิธีปฐมพยาบาล “เด็กจมน้ำ” อย่างไรให้ปลอดภัยมาให้อ่านกัน 


การปฐมพยาบาลเด็กจมน้ำ มีขั้นตอนและข้อควรระวังดังนี้

-สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อพบว่ามีเด็กจมน้ำ คือการประเมินสถานการณ์ ผู้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือเด็กต้องดูว่าตนเองสามารถช่วยเหลือได้มากแค่ไหน รีบขอความช่วยเหลือจากหน่วยฉุกเฉิน หรือเรียกรถพยาบาล เพื่อความปลอดภัยของเด็กและผู้ช่วยเหลือด้วย


-เมื่อช่วยเหลือเด็กขึ้นมาจากน้ำแล้ว ควรให้เด็กนอนบนพื้นราบ แห้ง และปลอดภัย ไม่จับอุ้มเด็กพาดบ่าเพื่อเอาน้ำออก และประเมินอาการเพื่อช่วยเหลือต่อไป


-หากเป็นการเกิดอุบัติเหตุทางน้ำและสงสัยว่าอาจจะกระทบกระเทือนต่อกระดูกต้นคอ ต้องระมัดระวังการเคลื่อนย้ายเด็ก


-หากตรวจดูแล้วพบว่า


*ถ้าไม่หายใจแต่ยังมีชีพจร ให้ช่วยหายใจ โดยช่วยหายใจ 1 ครั้ง ทุก 3-5 วินาที ประเมินอาการซ้ำทุก 2 นาที
*ถ้าไม่มีชีพจรหรือไม่แน่ว่ามีชีพจร ให้ทำการกู้ชีวิต โดยกดหน้าอก 30 ครั้ง สลับกับการช่วยหายใจ 2 ครั้ง โดยประเมินอาการซ้ำทุก 2 นาที
*ถ้าเด็กที่จมน้ำรู้สึกตัวขึ้นมาให้เด็กนอนตะแคง จัดท่าของศีรษะให้คอแหงนเล็กน้อยเพื่อเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

เมื่อเด็กฟื้นด้วยตัวเองได้แล้วทำไมยังจำเป็นต้องไปโรงพยาบาลอีก


เหตุผลสำคัญที่จำเป็นต้องส่งเด็กไปโรงพยาบาลทุกราย เนื่องจากในเด็กที่จมน้ำ อาจมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนจากการขาดออกซิเจน ภาวะเลือดเป็นกรด การสำลักน้ำ หรือมีการติดเชื้อในปอด ส่งผลให้มีการแลกเปลี่ยนก๊าซที่ผิดปกติตามมาได้ นอกจากนั้นอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในอวัยวะอื่นได้ เช่น ไซนัส หรือ เยื่อหุ้มสมอง และอาจมีความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกายได้ ดังนั้นแม้ว่าเด็กจะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นและรู้ตัวแล้ว ยังจำเป็นที่จะต้องไปตรวจเช็คอาการโดยละเอียดที่โรงพยาบาลทุกรายเพื่อความปลอดภัย

ป้องกันอย่างไรให้เด็กห่างไกลการจมน้ำ


สำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลานไม่ว่าจะเด็กเล็กหรือเด็กโต การจัดสิ่งแวดล้อมในบ้านที่ปลอดภัยจึงมีความสำคัญ เช่น แหล่งน้ำใกล้ตัว ได้แก่ ถังน้ำ อ่าง กะละมัง ฯลฯ ที่มีน้ำอยู่ และไม่ควรทิ้งเด็กไว้ตามลำพังกับแหล่งน้ำดังกล่าว หรือเมื่อมีกิจกรรมทางน้ำ เช่น การว่ายน้ำ ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด และมีความรู้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น




ข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท

ภาพจาก TNN Online

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง