รีเซต

คนไทยจมน้ำสูงกว่าปีละ 300 คน สงกรานต์เกิดเหตุเพิ่ม 1.5 เท่า

คนไทยจมน้ำสูงกว่าปีละ 300 คน สงกรานต์เกิดเหตุเพิ่ม 1.5 เท่า
TNN ช่อง16
11 เมษายน 2568 ( 12:54 )
9

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ช่วงเดือนเมษายนเป็นช่วงที่ประเทศไทยอากาศร้อนถึงร้อนจัดและมีเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจึงมักพาครอบครัวหรือรวมกลุ่มเพื่อนเล่นน้ำคลายร้อนตามแหล่งน้ำที่จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสูงกว่าช่วงปกติ จากข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2558 - 2567 พบว่า เดือนเมษายน มีคนจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 327 คน กลุ่มอายุ 45 - 59 ปี เสียชีวิตสูงที่สุด (84 คน) รองลงมาเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี (70 คน) โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 13 - 15 เมษายน มีคนจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยวันละเกือบ 15 คน มากกว่าวันปกติถึง 1.5 เท่า เฉพาะวันที่ 13 เมษายน มีการจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดเฉลี่ย 18 คน 

ขณะที่ข้อมูลจากระบบรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ (Drowning Report) ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค พบว่า การจมน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์มากกว่าครึ่งเกิดจากการเล่นน้ำ (ร้อยละ 58.6) และเกิดเหตุมากสุดในแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ร้อยละ 79.3 ที่สำคัญคือ คนที่จมน้ำมีการดื่มแอลกอฮอล์ถึง ร้อยละ 12 และทั้งหมดไม่สวมเสื้อชูชีพ

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการจมน้ำทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ คือ ขาดความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ขาดทักษะการเอาชีวิตรอดเมื่อตกน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็น ไม่สวมเสื้อชูชีพและไม่ใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงตัวขณะเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำ รวมถึงไม่รู้วิธีช่วยเหลือและปฐมพยาบาลคนตกน้ำ/จมน้ำที่ถูกต้อง จึงขอให้ประชาชนใช้หลัก “ชูชีพ กฎ งดดื่ม” ได้แก่ 

1.ใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งที่เล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำ หรือใช้อุปกรณ์ช่วยลอยน้ำ เช่น แกลลอนพลาสติกเปล่า ขวดน้ำพลาสติกเปล่า เป็นต้น 

2.ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยทางน้ำ เช่น ไม่เล่นน้ำบริเวณที่มีธงแดง/คลื่นลมแรง/คลื่นทะเลดูด ปฏิบัติตามป้ายเตือนและคำแนะนำ เป็นต้น 

3.ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนหรือขณะทำกิจกรรมทางน้ำ หรือเมื่ออยู่ใกล้แหล่งน้ำ ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองขอให้ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพัง สำหรับแหล่งน้ำที่จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำ เขื่อน น้ำตก ทะเล ต้องจัดพื้นที่สำหรับเล่นน้ำแยกออกจากบริเวณสัญจรทางน้ำ จัดไลฟ์การ์ดดูแลตลอดเวลาเปิดบริการ 

ส่วนผู้ที่พบเห็นคนตกน้ำให้ใช้หลัก “ตะโกน โยน ยื่น” คือ ตะโกนเรียกให้คนมาช่วย โยนอุปกรณ์ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก วัสดุที่ลอยน้ำได้ และยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับเพื่อดึงขึ้นจากน้ำ หากช่วยขึ้นมาแล้วห้ามจับอุ้มพาดบ่าหรือกระแทกท้องเพื่อเอาน้ำออก แต่ให้ช่วยด้วยการเป่าปากและนวดหัวใจ และโทร.แจ้ง 1669

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง