รีเซต

หุ่นยนต์ตระเวนสำรวจ เพอร์เซเวียแรนซ์ ลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จแล้ว

หุ่นยนต์ตระเวนสำรวจ เพอร์เซเวียแรนซ์ ลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จแล้ว
ข่าวสด
19 กุมภาพันธ์ 2564 ( 12:53 )
106
หุ่นยนต์ตระเวนสำรวจ เพอร์เซเวียแรนซ์ ลงจอดบนดาวอังคารได้สำเร็จแล้ว

องค์การนาซาประสบความสำเร็จในการนำหุ่นยนต์ตระเวนสำรวจตัวใหม่ "เพอร์เซเวียแรนซ์" (Perseverance) ลงสู่พื้นผิวของดาวอังคารบริเวณแอ่งหลุมอุกกาบาตเยเซโร (Jezero Crater) เมื่อเวลาเช้าตรู่ราว 3.55 น. ของวันนี้ (19 ก.พ.)

 

หุ่นยนต์ตระเวนสำรวจ 6 ล้อ ที่สร้างด้วยงบประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะเริ่มปฏิบัติงานค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตโบราณ ในแอ่งหลุมที่เคยเป็นทะเลสาบมาก่อนเป็นเวลา 1 ปีดาวอังคาร หรือเท่ากับ 687 วันบนโลก

 

NASA
ภาพที่สองซึ่งหุ่นยนต์ส่งมาจากภายในแอ่งหลุมอุกกาบาตเยเซโร

 

ในทันทีที่ได้รับสัญญาณแจ้งว่ายานนำส่งหย่อนหุ่นยนต์ลงสู่พื้นได้โดยปลอดภัยแล้ว ทีมวิศวกรผู้ควบคุมที่ห้องปฏิบัติการเครื่องยนต์ขับดัน ไอพ่น (JPL) ของนาซา ต่างปรบมือและโห่ร้องด้วยความยินดี เนื่องจากภารกิจลงจอดในครั้งนี้ถือว่าทำได้ยากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการสำรวจอวกาศ

 

สิ่งแรกที่หุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ส่งกลับมายังโลก ได้แก่ภาพถ่าย 2 ภาพจากบริเวณที่มันลงแตะพื้นดาวอังคาร โดยยังเป็นภาพที่มีความละเอียดคมชัดไม่มากนัก เพราะถ่ายจากกล้องสำหรับงานวิศวกรรมและมีฝุ่นจับฝาครอบเลนส์โปร่งแสงอยู่มากพอสมควร

 

NASA/JPL-CALTECH
หุ่นยนต์ "เพอร์เซเวียแรนซ์" หนัก 1 ตัน ติดตั้งอุปกรณ์สำรวจ 7 ชิ้น กล้องหลายตัวและหัวเจาะขนาดใหญ่

 

ผลวิเคราะห์หลังการลงจอดพบว่า ยานนำหุ่นยนต์ลงสู่พื้นห่างจากตำแหน่งของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโบราณซึ่งเป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้แต่แรก โดยคลาดเคลื่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ราว 2 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ถือว่ายานนำหุ่นยนต์ลงสู่พื้นได้โดยปลอดภัยในที่ราบที่ไม่ใช่พื้นทราย ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ได้

 

ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากใช้ระบบนำร่อง Terrain Relative Navigation (TRN) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด โดยคอมพิวเตอร์ในยานนำส่งจะสำรวจภูมิประเทศที่พบจริงขณะร่อนลง แล้วนำไปเปรียบเทียบกับภาพเก่าในฐานข้อมูล เพื่อตัดสินใจหาจุดลงจอดที่เหมาะสมอย่างรวดเร็วที่สุด โดยกระบวนการทั้งหมดใช้เวลาทั้งสิ้นไม่กี่สิบนาทีหรือไม่ถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น

 

 

ในช่วงสองสามสัปดาห์ถัดจากนี้ ทีมควบคุมหุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์จะยังคงตรวจสอบต่อไปว่า มีระบบการทำงานของอุปกรณ์ใดขัดข้องบ้างหรือไม่ รวมทั้งกางเสาหลักซึ่งเป็นที่ตั้งของกล้องขนาดใหญ่บนตัวหุ่นยนต์ออกมา และเปลี่ยนซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับการลงจอดเป็นซอฟต์แวร์เพื่อการขับเคลื่อนปฏิบัติงานบนพื้นผิวดาวแทน โดยหุ่นยนต์จะเริ่มสำรวจหินปูนที่ฐานของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโบราณก่อน แล้วจึงเคลื่อนไปยังริมขอบของแอ่งหลุมอุกกาบาตในภายหลัง

 

การสำรวจครั้งนี้ยังเป็นภารกิจแรกในประวัติศาสตร์ ที่จะมีการเก็บตัวอย่างดินหินจากดาวอังคารกลับสู่โลก โดยคาดว่าภารกิจร่วมของนาซาและองค์การอวกาศยุโรปที่น่าจะมีขึ้นในปี 2026 อาจส่งจรวดไปรับตัวอย่างดังกล่าวกลับมายังโลกได้ในปี 2031

ข่าวที่เกี่ยวข้อง