ขุดหา-ซื้อขาย จิ้งโกร่ง สร้างรายได้
ชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดพะเยา จะรู้ว่าในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้จะมีบรรดาจิ้งโกร่ง หรือจิ้งกุ่ง หรือจิ้งหรีดยักษ์ จะพากันออกมาผสมพันธุ์และอยู่ในรูกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านต่างพากันขุดหานำออกมาขาย สร้างรายได้วันละหลัก 100-1,000 กว่าบาท ต่อวัน โดยชาวบ้านที่ขุดหาได้นำมาจำหน่ายให้กับแม่ค้าในหมู่บ้านรับซื้อ ในราคาตัวละ 1.50-2 บาท แม่ค้าก็จะนำไปขายต่อตัวละ 2-2.50 บาท สร้างรายได้เป็นอย่างดี
จิ้งโกร่ง เป็นจิ้งหรีดชนิดหนึ่งที่มีขนาดลำตัวใหญ่ที่สุด นิยมใช้ประกอบอาหารหลายเมนู อาทิ จิ้งโกร่ง คั่วเกลือ ป่นจิ้งโกร่ง แกงหน่อไม้ใส่จิ้งโกร่ง จิ้งโกร่ง ชุบแป้งทอด เป็นต้น นอกจากนั้น ยังนิยมใช้เป็นเหยื่อจับปลาหรือเหยื่อปักเบ็ดได้เช่นกัน ชื่อท้องถิ่น ภาคกลาง และทั่วไปเรียก จิ้งโกร่ง จิ้งหรีดหัวโต จิ้งหรีดหางสั้น อีสานเรียก จิโป่ม จิดโป่ม จิ๊หล่อ เหนือเรียก จิ้งกุ่ง
แหล่งที่พบและการแพร่กระจาย จิ้งโกร่ง เป็นจิ้งหรีดชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วโลก สำหรับชนิดที่พบในประเทศไทยจะเป็นสกุล Brachytrupes ซึ่งมีเพียงชนิดเดียว คือ Brachytrupes portentosus หรือที่เรียก จิโป่ม หรือ จิ้งหรีดหางสั้น แต่จิ้งหรีดในสกุลนี้บนโลกมีรายงานพบได้กว่า 15 ชนิด และมีรายงานพบกว่า 3 ชนิด ในแถบอินโดนีเซีย-มาเลเซีย ที่รวมถึงประเทศไทยด้วย ประกอบด้วย B. portentosus, B. orientalis และ B. terrificus
ลักษณะจิ้งโกร่ง มีลำตัวทรงกระบอกและอวบอ้วน ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม ลำตัวประกอบด้วยส่วนหัว อก และท้อง ตัวเต็มวัยมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ทั้งนี้ ตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ส่วนหัวเป็นส่วนที่มีขนาดเล็ก มีลักษณะค่อนข้างกลม มีปากด้านล่างเป็นแบบปากกัด มีกรามขนาดใหญ่ ตาเป็นแบบตารวมอยู่ด้านบนปาก มี 2 คู่ ส่วนหนวดอยู่ด้านข้างมุมปาก มี 2 คู่ หนวดมีลักษณะเป็นเส้นสีน้ำตาลหรือดำขนาดเล็กคล้ายกับเส้นผม ยาวมากกว่าความยาวของลำตัว
ส่วนอกเป็นส่วนตรงกลางเชื่อมระหว่างส่วนหัวกับส่วนท้อง โดยมีอกปล้องแรกขนาดใหญ่ และมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ ถัดมาเป็นส่วนท้อง โดยด้านบนส่วนท้องจะปกคลุมด้วยปีก ซึ่งจะพบปีกได้ในระยะตัวเต็มวัย ประกอบด้วยปีก 2 คู่ แบ่งเป็นปีกคู่หน้า ปีกคู่หลัง โดยที่บริเวณโคนปีกจะมีอวัยวะในการรับฟังเสียง ซึ่งมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย ส่วนจิ้งโกร่ง เพศผู้จะมีอวัยวะพิเศษในการทำให้เกิดเสียงบนแผ่นปีก ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ แผ่นทำเสียงอยู่บริเวณกึ่งกลางของปีก เรียกว่า ไฟล์ (file) และอีกส่วนอยู่บริเวณมุมปีกด้านท้าย และอีกส่วนเป็นตุ่มทำเสียง อยู่ขอบแผ่นปีก
ส่วนขาจิ้งโกร่ง มีทั้งหมด 6 ขา หรือ 3 คู่ เป็นขาประเภทขากระโดด ปลายขามีเล็บ 2 อัน แบ่งเป็นขาคู่แรกอยู่บริเวณด้านบนของส่วนอก ส่วนคู่ที่ 2 และ 3 อยู่บริเวณส่วนท้องบริเวณด้านบน และตรงกลางของส่วนท้องตามลำดับ โดยขาคู่ที่ 3 หรือ เรียกว่า ขาคู่หลังจะมีขนาดใหญ่ที่สุด หรือบริเวณต้นขาที่มีขนาดใหญ่ ทำหน้าที่สำหรับการกระโดดได้ดี
วงจรชีวิต จิ้งโกร่ง มีอายุโดยเฉลี่ยในช่วง 333.30±20.06 วัน หรือในช่วง 313-354 วัน โดยตัวเมียขนาดลำตัวใหญ่กว่าตัวผู้และอายุยืนกว่า ประกอบด้วยระยะการเติบโตต่างๆ ดังนี้ ไข่จิโป่มมีลักษณะทรงกระบอกขนาดเล็กสีเหลืองอ่อนมีรูปร่างคล้ายกับเมล็ดข้าวสาร ผิวเปลือกไข่มีลักษณะมันวาว มีอายุการฟักเป็นตัวประมาณ 41-71 วัน
ตัวอ่อน เป็นระยะหลังฟักออกจากไข่ แบ่งเป็น 7 ระยะ มีอายุในระยะประมาณ 153-194 วัน ซึ่งเป็นระยะที่ยาวนานที่สุด โดยเป็นระยะที่ร่างกายเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว สามารถที่จะเริ่มออกหาอาหารได้ตั้งแต่หลังฟักออกจากไข่
ระยะตัวอ่อน 7 ระยะ มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็นช่วงๆ ได้แก่ ระยะตัวอ่อน 1-2 ลำตัวจะมีผนังหุ้มสีขาวใส และค่อยเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลในช่วงปลายของระยะที่ 2 ส่วนระยะตัวอ่อน 3-7 เริ่มแรกจะเริ่มมีตุ่มขนาดเล็กบนแผ่นปีก ลำตัวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มขึ้น และปีกมีขนาดใหญ่ขึ้น
ตัวเต็มวัย จิ้งโกร่ง ตัวเต็มวัยเป็นระยะที่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ โดยตัวเมียจะมีอายุในระยะตัวเต็มวัยยาวนานกว่าตัวผู้คือ ตัวเมียจะมีช่วงอายุในระยะประมาณ 84-135 วัน ส่วนตัวผู้จะมีช่วงอายุในระยะประมาณ 74-99 วัน โดยมีความแตกต่างระหว่างเพศคือ ตัวเมียจะมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าตัวผู้ และตัวผู้จะผิวปีกคู่หน้าย่นและขรุขระ ส่วนตัวเมียจะผิวปีกคู่หน้าเรียบ
แหล่งอาศัยและอาหาร จิ้งโกร่ง เป็นแมลงที่ดำรงชีวิตอยู่ในดินและบนดิน โดยจะอาศัยการทำรัง หรือที่นี้เรียกว่า รู ด้วยการขุดรูลงใต้ดินสำหรับหลบอาศัยทั้งในกลางวันและกลางคืน โดยรูจะมีขนาดประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีลักษณะลาดเอียงลึกลงดิน มีความลึกประมาณ 30-60 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและความชื้นของดิน ขณะหลบอาศัยในรูจะนำดินมาปิดปากรูไว้ ส่วนเวลาออกหาอาหาร ซึ่งจะเป็นช่วงกลางคืนตั้งแต่พลบค่ำจนถึงเช้าตรู่
อาหารของจิ้งโกร่ง จะเป็นพืชชนิดต่างๆ โดยเฉพาะหญ้าใบอ่อนที่ขึ้นโดยรอบของรู ทั้งนี้ ในช่วงฤดูฝนจนถึงฤดูหนาวจะทำการออกหากินหญ้าหรือพืชต่างๆ นอกรูแล้วกลับเข้ารู แต่หากย่างเข้าสู่ช่วงปลายฤดูหนาว นอกจากจะกินอาหารแล้วยังมีการนำหาเข้ามาเก็บพักไว้ในรูด้วยเพื่อใช้เป็นอาหารในช่วงฤดูแล้งที่ขาดแคลนพืชใบเขียว
การผสมพันธุ์ ตัวเต็มวัยที่เข้าสู่ระยะสืบพันธุ์และวางไข่ มักอยู่ในช่วงปลายฝน-ต้นฤดูหนาว ประมาณเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ซึ่งเราจะพบหรือได้ยินเสียงร้องดังในช่วงกลางคืนได้บ่อย
เสียงร้องของจิ้งโกร่ง จะเป็นเสียงร้องของตัวผู้เพื่อร้องในการเรียกหาคู่ตัวเมีย เมื่อตัวเมียที่อยู่รอบข้างได้ยินเสียงก็จะกระโดดมาหาตัวผู้เพื่อผสมพันธุ์ เมื่อตัวเมียมาพบกับตัวผู้ ตัวผู้จะเดินวนเวียนรอบตัวเมียเพื่อทำความรู้จักและคุ้นเคย และหากพึงพอใจซึ่งกันและกันก็จะมีการผสมพันธุ์เกิดขึ้น แต่บางครั้งมักมีการแย่งชิงตัวเมียจากตัวผู้ตัวอื่นที่ทำรังอยู่ใกล้กัน
การผสมพันธุ์ของจิ้งโกร่ง จะแตกต่างจากการผสมพันธุ์ของแมลงหรือสัตว์โดยทั่วไปคือ ขณะผสมพันธุ์ ตัวเมียจะเป็นฝ่ายขึ้นขี่ด้านหลังของตัวผู้ จากนั้นตัวผู้จะกระดกปลายอวัยวะเพศที่อยู่ด้านท้ายของท้องโค้งขึ้นด้านบน พร้อมกับตัวเมียโน้มปลายส่วนท้องที่เป็นอวัยวะเพศลงรับอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ หลังจากผสมพันธุ์แล้วตัวเมียจะหากินและกลับเข้ารูตามปกติเพื่อทำหน้าที่วางไข่ต่อไป โดยตัวเมีย 1 ตัว วางไข่เฉลี่ยประมาณ 120 ฟอง โดยการวางไข่ตัวเมียจะหาแหล่งกองซากพืช เช่น กองไม้ผุหรือกองใบไม้สำหรับวางไข่
ประโยชน์ของจิ้งโกร่ง นิยมนำมาประกอบอาหารเป็นหลัก โดยใช้ทำอาหารได้หลายเมนู อาทิ จิ้งโกร่ง คั่วเกลือ ป่นจิ้งโกร่ง แกงคั่วจิ้งโกร่ง แกงหน่อไม้ใส่จิ้งโกร่ง เป็นต้น ในบางพื้นที่นิยมใช้เป็นเหยื่อจับปลาหรือเป็นเหยื่อสำหรับปักเบ็ด โดยปลาที่ชื่นชอบจิ้งโกร่ง ที่มักมากินเบ็ด ได้แก่ ปลาดุกและปลาช่อน ประโยชน์ต่อระบบนิเวศ จิ้งโกร่ง เป็นแมลงที่กินพืชเป็นอาหาร โดยเฉพาะหญ้าหรือวัชพืชต่างๆ ช่วยในการกำจัดวัชพืชได้ นอกจากนั้น จิ้งโกร่ง ได้นำอาหารจำพวกพืชต่างๆ เก็บไว้ในรังจนบางครั้งทำให้เกิดเชื้อราย่อยสลายพืชเหล่านั้น จึงถือเป็นการเพิ่มเชื้อราในดินได้
การจับหรือการหาจิ้งโกร่ง แบ่งได้ 2 วิธี คือ
- การขุดจากรูด้วยเสียม เป็นวิธีที่นิยมที่สุด เนื่องจากสามารถจับได้ง่าย ได้ปริมาณมาก และรวดเร็วด้วยการหาข๋วย (ภาษาอีสาน) หรือกองดินจากรูจิ้งโกร่ง ลักษณะข๋วยหรือกองดินจิ้งโกร่ง จะมีลักษณะเป็นกองดินเล็กๆ กองดินมีลักษณะเป็นขุยหรือก้อนละเอียดขนาดเล็ก โดยตรงมุมด้านใดด้านหนึ่งจะมีร่องหรือปากรูอย่างชัดเจน โดยหากปากรูปิด แสดงว่ารูนี้มีจิ้งโกร่ง อาศัยอยู่ จากนั้นใช้เสียมถากบริเวณปากรู ซึ่งรูในส่วนบนจะถูกปิดเป็นดินหลวมๆ จากนั้น จะพบรูเปิด แล้วทำการขุดตามรูเรื่อยจนถึงตัวจิ้งโกร่ง ซึ่งจะหลบอาศัยบริเวณจุดสิ้นสุดของรูที่ลึกที่สุด ทั้งนี้ ความลึกของรูจะแตกต่างกันตามฤดูคือ ฤดูหนาวและแล้ง รูจะลึก ส่วนฤดูต้นฝนจะมีรูตื้น
- การส่องจับกลางคืน เป็นวิธีที่ไม่ค่อยนิยม เนื่องจากจิ้งโกร่ง จะไวต่ออันตราย ซึ่งจะหมุดลงรูอย่างรวดเร็ว โดยการส่องจับเวลากลางคืนนั้น จะอาศัยช่วงที่ออกมาร้องบริเวณปากรูหรืออยู่นอกรู ซึ่งอาจจับด้วยมือ หากพบอยู่นอกรูในระยะไกล แต่หากอยู่บริเวณปากรูจะใช้เสียมเป็นอุปกรณ์ช่วยจับ โดยใช้เสียมปักทิ่มลงบริเวณรูเพื่อปิดไม่ให้มุดลงรู จากนั้นค่อยใช้มือจับ ซึ่งวิธีนี้ต้องมีความชำนาญและว่องไวจึงจะจับได้
คุณโสภิดา เมืองแก้ว แม่ค้าขายจิ้งโกร่งหรือจิ้งกุ่ง เล่าว่า ได้รับซื้อตัวจิ้งโกร่งหรือจิ้งกุ่งจากชาวบ้านในหมู่บ้านในราคาตัวละ 1.50-2 บาท และนำมาจำหน่ายที่ตลาดสดบ้านแม่ใส ในราคาตัวละ 2-2.50 บาท ซึ่งในแต่ละวันจะนำตัวจิ้งโกร่งหรือจิ้งกุ่งที่รับซื้อจากชาวบ้านมาขายที่ตลาดวันละ 1,000-2,000 ตัว และจะมีพ่อค้าแม่ค้ามารอรับไปขายต่ออีกที สำหรับการหาจิ้งโกร่ง หรือจิ้งกุ่งของชาวบ้านที่มีประสบการณ์ จะขุดจิ้งโกร่งหรือจิ้งกุ่งได้มากถึงวันละ 200-300 ตัว โดยนำขายในราคาตัวละ 1.50-2 บาท ซึ่งชาวบ้านทำเงินจากการขายจิ้งโกร่งหรือจิ้งกุ่งได้วันละ 400-1,000 บาท โดยการหาจิ้งโกร่งหรือจิ้งกุ่งชาวบ้านก็ใช้อุปกรณ์ทั้งจอบและเสียมขุดลงไปในรูที่มีจิ้งโกร่งหรือจิ้งกุ่งในรูใต้ดิน จากนั้นจะนำไปขายให้กับตนเอง สามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านและตนเอง ตามฤดูกาล โดยจิ้งโกร่งหรือจี้งกุ่งถือเป็นอีกหนึ่งในเมนูยอดฮิตของชาวภาคเหนือ นิยมนำไปทำเมนูทั้งทอดแป้ง คั่วเกลือ ตำน้ำพริก โดยมีรสชาติอร่อย กรอบมันและมีโปรตีนสูงอีกด้วย