รีเซต

ระวัง! “นิ้วล็อค” จากการ "Work Form Home" จนต้องผ่าตัด!

ระวัง! “นิ้วล็อค” จากการ "Work Form Home" จนต้องผ่าตัด!
Ingonn
29 มิถุนายน 2564 ( 16:27 )
166

 

เคยรู้สึกว่า “นิ้วล็อค” จากการใช้มือกันไหม ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์งานบนคอมพิวเตอร์ การใช้โทรศัพท์ หรือการหยิบของแล้วรู้สึกเจ็บที่โคนนิ้ว โดยเฉพาะนิ้วที่เรามักเป็นมากที่สุดก็คือ “นิ้วโป้ง” ถ้าเริ่มมีอาการปวดแล้วอย่างได้วางใจไป เพราะอาจนำไปสู่การผ่าตัดใหญ่ที่เราคาดไม่ถึงได้ หากไม่รู้ทันและดูแลตัวเองให้ดีเสียก่อน

 

 

ในช่วงที่ทุกคนต้องเรียนออนไลน์ หรือเวิร์กฟอร์มโฮม (Work Form Home WFH) อาจทำให้หลายคนต้องใช้งานมือในการพิมพ์มากขึ้นกว่าเดิม จนเกิดอาการปวดมือ ซึ่งการปวดมือ ปวดตามข้อนิ้วเหล่านี้ นำมาสู่ “โรคนิ้วล็อค” ซึ่ง TrueID จะพาไปรู้จักโรคนี้กันว่าเป็นโรคใกล้ตัวมากที่มองข้ามไม่ได้เลย

 

 


โรคนิ้วล็อค คืออะไร


โรคนิ้วล็อค หรือ Trigger finger เป็นภาวการณ์อักเสบบริเวณปลอกหุ้มเส้นเอ็น ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อย เนื่องจากมือเป็นอวัยวะสำคัญที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ในการทำงาน ยกหรือหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้ว รู้สึกสะดุด หรือล็อคขณะงอเหยียดนิ้ว ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเป็นอาการของโรคนิ้วล็อคทั้งสิ้น

 

 

ทำไมถึงเป็นโรคนิ้วล็อค


โรคนิ้วล็อคเกิดจากการอักเสบบริเวณปลอกหุ้มเส้นเอ็น ซึ่งมักจะสัมพันธ์กับการใช้งานหนัก โดยเฉพาะการเหยียดและงอข้อนิ้วซ้ำ ๆ หรือการกำสิ่งของแน่น ๆ เป็นเวลานาน โดยโรคนี้มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบมากที่สุดในผู้หญิงวัยกลางคน และมีโอกาสเป็นได้มากขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หรือโรคไต

 

 


กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อค


1.ผู้สูงอายุ ซึ่งจะเกิดจากความเสื่อมของเส้นเอ็นและมีการใช้งานที่สะสมมานาน

 


2.ผู้หญิง จะเป็นนิ้วล็อคมากกว่าผู้ชาย

 


3.ผู้ที่มีประวัติมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน

 


4.กลุ่มคนที่ใช้นิ้วมือทำงานอย่างหนัก

 

 


อาการโรคนิ้วล็อค


อาการและอาการแสดงของโรคนิ้วล็อคมีหลายระดับ สามารถแบ่งตามความรุนแรงได้ดังนี้


1.มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้ว และอาจรู้สึกติดแข็งในตอนเช้า

 


2.รู้สึกสะดุด หรือมีเสียงเวลาขยับข้อนิ้ว และอาจคลำได้ก้อนบริเวณโคนนิ้ว 

 


3.นิ้วล็อคติดในท่างอ แต่ยังสามารถจับเหยียดนิ้วออกมาได้

 


4.นิ้วล็อคติดในท่างอ โดยที่ไม่สามารจับเหยียดออกมาได้

 

 


พฤติกรรมเสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อค


1.การใช้นิ้วมือในท่าเดิมๆ เป็นเวลานานๆ เช่น กดแป้นพิมพ์ เล่นเกมส์ เป็นต้น

 


2.การหิ้วของหนักเกินไป เช่น หิ้วตะกร้า ถุงพลาสติก หรือ ถังน้ำ

 


3.บิดผ้าหรือซักผ้าด้วยมือเปล่าจำนวนมากๆ

 


4.ทำงานที่ต้องใช้มือกำ บีบ จับ หรือยกของหนักประจำ เป็นเวลานานๆ

 


5.การเล่นกีฬาประเภท ตีกอล์ฟ การตีเทนนิส ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดนิ้วล็อคมากกว่ากีฬาประเภทอื่น

 

 


การวินิจฉัยโรคนิ้วล็อค


โรคนิ้วล็อคสามารถวินิจฉัยได้โดยใช้การซักประวัติ และการตรวจร่างกาย โดยแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ หรือแพทย์ทั่วไปที่มีความชำนาญ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจเอกซเรย์ หรือส่งตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมหากแพทย์ไม่ได้สงสัยภาวะอื่น ๆ

 

 

 

การรักษาโรคนิ้วล็อค


การรักษาโรคนิ้วล็อคมีทั้งการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและการรักษาโดยการผ่าตัด โดยขึ้นกับความรุนแรงของอาการที่เป็น

 

การรักษาแบบไม่ผ่าตัด


ในรายที่พึ่งเริ่มมีอาการมาไม่นาน หรืออาการไม่รุนแรง แพทย์มักจะแนะนำให้ใช้การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดก่อน โดยมีข้อแนะนำดังนี้


• ให้พักใช้งานมือข้างที่มีอาการ และหลีกเลี่ยงการกำและเหยียดนิ้วมือซ้ำ ๆ อย่างน้อยสองสัปดาห์

 


• แนะนำให้แช่น้ำอุ่นและนวดบริเวณโคนนิ้ว โดยเฉพาะในตอนเช้าอย่างน้อย 5-10 นาทีต่อวัน

 


• การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว (Finger splint) ให้นิ้วอยู่ในท่าเหยียดตรง โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดในตอนเช้าได้

 


• หากผู้ป่วยไม่สามารถเหยียดนิ้วได้สุด ควรจะทำการบริหารเหยียดนิ้วดังกล่าวบ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะข้อติดในท่างอ

 


• การรับประทานยาแก้ปวด หรือยาลดการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น อย่างไรก็ตามยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์และได้รับคำแนะนำก่อนใช้ยา

 


• ผู้ป่วยที่มีอาการเป็นมานาน หรือการรักษาโดยวิธีต่าง ๆ ข้างต้นไม่ได้ผล แพทย์อาจจะพิจารณาการรักษาโดยฉีดยาสเตียรอยด์ (steroid injection) เข้าบริเวณปลอกหุ้มเอ็นบริเวณโคนนิ้ว เพื่อลดการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็น ซึ่งการฉีดยาควรทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญเท่านั้น โดยทั่วไปการฉีดยาจะให้ผลการรักษาดี แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยยังมีความจำเป็นต้องใช้งานมือข้างที่มีอาการอยู่ ก็มีโอกาสที่จะกลับมามีอาการกำเริบซ้ำขึ้นอีกได้ โดยอาจจะมีอาการกลับมาหลังฉีดยาประมาณ 3-6 เดือน และหากมีอาการกลับมาอีกครั้ง แพทย์อาจจะพิจารณาฉีดยาซ้ำได้อีก แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรที่จะฉีดยามากกว่า 2 ครั้งในนิ้วเดียวกัน

 

 

 

การรักษาโดยการผ่าตัด

 

ในรายที่อาการเป็นรุนแรง หรือกลับมามีอาการกำเริบหลายหลังจากการได้รับการรักษาโดยวิธีต่าง ๆ โดยวิธีการข้างต้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่มีการอักเสบออก โดยการผ่าตัดโรคนิ้วล็อคมีอยู่สองวิธีคือ

 


1. การผ่าตัดโดยมีแผลเปิด (Open release) โดยทั่วไปสามารทำได้โดยการฉีดยาชาฉพาะที่ และเปิดแผลขนาดเล็กประมาณ 1cm และใช้มีดกรีดเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นออก หลังผ่าตัดผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ โดยแพทย์จะนัดมาตัดไหมที่ประมาณ 10-14 วันหลังการผ่าตัด

 


2. การผ่าตัดกรีดเปิดปลอกหุ้มเส้นเอ็นโดยไม่มีแผลเปิด (Percutaneous release) วิธีนี้จะต้องใช้เครื่องมือพิเศษเพื่อป้องกันการบาดเจ็บต่อเส้นเอ็น เส้นเลือดและเส้นประสาทของนิ้ว การผ่าตัดทำได้โดยใช้เข็มหรือของมีคมเขี่ยปลอกหุ้มเส้นเอ็น วิธีนี้มีข้อดีคือ แผลจะมีขนาดเล็กกว่าประมาณ 2mm ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์มากขึ้น และมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บของเส้นเลือดหรือเส้นประสาทได้

 

 

 

ข้อควรปฏิบัติหลังการผ่าตัดโรคนิ้วล็อค


โดยทั่วไปหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถกลับบ้านได้เลย โดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้


- ระวังไม่ให้แผลเปียกน้ำ หากแผลเปียกน้ำ ควรทำแผลทันที

 


- ควรมาตรวจตามแพทย์นัดเพื่อตัดไหม ประมาณ 10-14 วันหลังการผ่าตัด

 


- เมื่อแผลแห้งดีแล้ว ควรจะต้องทำการนวดแผลผ่าตัด เพื่อให้แผลเป็นนุ่ม และลดความเสี่ยงที่จะกลับมามีอาการซ้ำได้

 


- ควรปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากแผลมีภาวะผิดปกติ เช่น แผลซึม หรือมีเลือดออก ควรกลับมาพบแพทย์ทันที

 

 

 

บทความโดย นพ.ปิยบุตร กิตติธรรมวงศ์ ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย , แพทยสภา

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง