รีเซต

ผลตรวจชายฝรั่งเศส ยังไม่พบเชื้อ "ฝีดาษลิง" รอยืนยันจากจุฬาฯ วันนี้

ผลตรวจชายฝรั่งเศส ยังไม่พบเชื้อ "ฝีดาษลิง" รอยืนยันจากจุฬาฯ วันนี้
TNN ช่อง16
8 สิงหาคม 2565 ( 09:56 )
48
ผลตรวจชายฝรั่งเศส ยังไม่พบเชื้อ "ฝีดาษลิง" รอยืนยันจากจุฬาฯ วันนี้

นายสุรชัย เจียมกุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตราด  กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส (ครั้งแรกแถลงว่าเป็นชาวเยอรมัน เนื่องจากนันท่องเที่ยวสับสน) อายุ 32 ปี ที่อาจเข้าข่ายเป็นฝีดาษลิง รายที่ 5 ว่า จากการสอบสวนโรค และนำผลเลือดส่งตรวจ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลไม่พบเชื้อฝีดาษลิง แต่ยังต้องรอผลยืนยันจากศูนย์โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่จะส่งผลมาในวันนี้ (8 ส.ค.) โดยที่ผ่านมานักท่องเที่ยวรายนี้อยู่ในประเทศมานาน และเดินทางไปท่องเที่ยวในหลายจังหวัด เช่น ภูเก็ต พัทยา และตราด




คาดวัคซีน "ฝีดาษลิง" ถึงไทยปลาย เดือน ส.ค.นี้


ขณะที่ นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีผู้ป่วยยืนยัน 4 คน เป็นชาวต่างชาติ 2 คน และสัญชาติไทย 2 คน จากการเฝ้าระวังติดตามอาการผู้ป่วยพบอาการป่วยไม่รุนแรง แม้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่สามารถหายได้เองในระยะ 2-4 สัปดาห์ โดยให้ยารักษาตามอาการ 


ส่วนการป้องกันควบคุมโรค องค์การอนามัยโลก แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มที่จำเป็นเช่น บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งสิ่งที่สำคัญอันดับแรก คือ การป้องกันโรคโดยไม่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย งดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันติดเชื้อจะเป็นการดีที่สุด แม้ปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ๆ แล้วแต่ยังต้องติดตามข้อมูลผลข้างเคียง และประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อใช้จริงในประชากร ทั้งนี้ ประเทศไทยได้สั่งจองวัคซีนป้องกันฝีดาษไปแล้ว และคาดว่าจะนำเข้ามาประมาณปลายเดือน สิงหาคมนี้  


สำหรับกลุ่มเป้าหมายของวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงที่จะนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยจะต้องพิจารณาหลายด้าน ซึ่งคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ได้ประชุมหารือแล้วและกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะรับวัคซีนเบื้องต้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มก่อนการสัมผัสเชื้อ ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เช่น ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และ 2.กลุ่มหลังสัมผัสเชื้อ คือ กลุ่มเสี่ยงหลังสัมผัสโรคไม่เกิน 14 วัน ซึ่งหากฉีดเร็วจะมีโอกาสป้องกันการติดเชื้อเพิ่มขึ้น


ทั้งนี้ ขอแนะนำประชาชนว่า วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือในการป้องกันโรค แต่ไม่สามารถป้องกันโรคได้เต็มร้อย ซึ่งวัคซีนมีหน้าที่ช่วยลดอาการรุนแรงของโรค ลดป่วยหนัก ลดเสียชีวิต


รพ.จุฬาฯ บริการ ตรวจหาเชื้อ "ฝีดาษลิง" แจ้งผลใน 24 ชม.


ขณะที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดบริการตรวจหาเชื้อฝีดาษลิง ด้วยวิธี PCR โดยเปิดทำการตรวจในเวลา 08.30 -17.00 น. ที่ห้อง 912 อาคาร อปร.ชั้น 9 พร้อมแจ้งผลภายใน 24 ชั่วโมง โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่  ระบุว่า การตรวจฝีดาษลิง เป็นการประสานเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุข //ส่วนกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อ สามารถติดต่อทางตรง คือ น้ำลาย และ สารคัดหลังจากเยื่อบุแผลตุ่มผิวหนังของคนติดเชื้อ  หรือ ทางอ้อม คือ เชื้ออยู่ที่ผิวหนัง พื้นผิว ผ้าปูที่นอน เสื้อผ้า เครื่องใช้ ซึ่งต้องอยู่ที่ปริมาณของเชื้อ ผ่านการสัมผัสแนบแน่น เข้มข้น เนิ่นนานพอสมควร ซึ่งยากกว่าการติดเชื้อโควิด-19 มาก //โดยกลุ่มคนที่ควรระวังฝีดาษลิง คือ แพทย์ เช่น ทางผิวหนัง หู คอ จมูก ตา ฟัน อาจต้องระวังการแพร่ทางน้ำลาย และละอองฝอยจากปาก การพูดด้วย เพราะต้องมีการตรวจหรือปฏิบัติใกล้ชิด


อย่างไรก็ตามคนที่ติดเชื้อแพร่เชื้อได้ ทางละอองฝอยน้ำลาย โดยยังไม่เกิดอาการทางกาย ยังสบายดี ด้วยซ้ำ โดยมีแผลตุ่มผื่นที่ผิวหนัง ไม่มากก็ได้ หรือไม่สบาย โดยยังไม่มีแผลตุ่มผื่นด้วยซ้ำ



ภาพจาก AFP


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง