เปิดข้อพิรุธผู้สร้าง "ตึก สตง." บริษัทที่ดูรกร้าง ผู้ประมูลโครงการหลักพันล้านของรัฐได้

หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ตึกดังกล่าวเป็น ตึกเดียวในประเทศไทย ที่ถล่มราบเป็นหน้ากลอง
คร่าชีวิตผู้บริสุทธ์ 12 ราย บาดเจ็บ 30 กว่าชีวิต และอีกเกือบ 80 ราย ยังไม่ทราบชะตากรรม เกิดการเปรียบเทียบในโลกโซเชียลว่า ห่างไปไม่กี่ร้อยเมตร มีอาคาร 3 ตึกใหญ่ อยู่ในระหว่างก่อสร้างเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีความเสียหายใด ๆ
พบว่าเป็นโครงการของ บริษัท ฤทธา บริษัทรับเหมาก่อสร้างชื่อดังของไทย จนได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม สวนทางกับตึก สตง. เรื่องนี้ถูกตั้งคำถามไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในเว่ยป๋อ โซเชียลของจีน
มีการพูดคุยถึง การก่อสร้างตึกนี้ว่ามีลักษณะคล้าย ตึกฟองเต้าหู้ ที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้สร้างเผื่อการเกิดภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหว จนเสียหายอย่างรุนแรง
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.มหาดไทย บอกว่า ขณะนี้มีการตั้งวิศวกร จากกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อตรวจสอบว่า ตึกนี้มีการก่อสร้างได้มาตรฐานหรือไม่?
รวมถึง จัดเก็บตัวอย่าง เหล็กเส้นที่ใช้ในการก่อสร้างไปตรวจสอบแล้ว หากพบว่าไม่ถูกต้อง ปลอดภัย เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ
แม้ สตง.ระบุว่า โครงการนี้ มีการดำเนินการก่อสร้างถูกต้อง ตามหลักการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
มีการลงนามข้อตกลงคุณธรรม เพื่อป้องกันการทุจริต แต่ยังมีคำถามเกี่ยวกับมาตรฐานและความเหมาะสมของผู้รับเหมา นั่นคือ กิจการร่วมค้า ITD - CREC No.10
ย้อนสำรวจ การสร้างตึก สตง. งบกว่า 2,136 ล้าน
ตึก สตง. แห่งใหม่ 30 ชั้น เริ่มโครงการผ่านการประกวดราคาด้วย (e-bidding) การประมูลผ่านออนไลน์ในปี 2563 แต่เริ่มการก่อสร้างจริง ปี 2564 บนที่ดินเช่าของ รฟท. ด้วยงบ 2,136 ล้าน
จากผู้ชนะการประมูล คือ
กิจการร่วมค้า ITD - CREC No.10
ITD คือ อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ของเปรมชัย กรรมสูต CREC No.10 คือ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย)
บริษัทนี่แหละที่พบความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง รวมถึง
1.สังคมออนไลน์ ร่วมกันตรวจสอบพบว่า บริษัทมีการลบข้อมูลข่าวเกี่ยวกับ การสร้างตึกนี้ ที่เคยเป็นความภาคภูมิใจ และยืนยันว่า ทนทานต่อแผ่นดินไหวออกจากโซเชียลทั้งหมดหลังเกิดเหตุ
2.โครงสร้างบริษัท มีลักษณะคล้าย นอมินี จดทะเบียนจัดตั้ง ปี 2561 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แต่ผลประกอบปัจจุบัน มีหนี้สินทะลุพันล้าน การเงินเปราะบางมาก แต่กลับได้รับการว่าจ้างในโครงการใหญ่ ๆ อยู่บ่อยในไทย
มีรายชื่อกรรมการ คนจีน 49% คือ นายชวนหลิง จาง และคนไทย 51% คือ นายโสภณ มีชัย , นายประจวบ ศิริเขตร, นายมานัส ศรีอนันท์ ซึ่ง 49% เป็นสัดส่วนที่สูงสุดของกฎหมายไทยที่ให้ต่างชาติมาประกอบกิจการในไทยได้ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ลักษณะคล้ายคลึง การเป็น นอมินี ถือครองแทนชาวต่างชาติ ได้เช่นกัน
นอมินี (Nominee) หมายถึง บุคคลผู้ถือหุ้นแทนผู้อื่น โดยไม่มีบทบาทในการบริหาร ตัดสินใจ หรือแม้แต่ลงทุนจริงๆ ถือแทน แค่เพื่อให้บริษัท สามารถเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายได้ ให้ดูเหมือนว่าเป็นบริษัทของคนไทย
3. ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย มีบทบาทจริง หรือเป็นเพียงนอมินี ?
เนื่องจากเพจ CSILA พบว่า นายโสภณ เคยเป็นพนักงานทั่วไปของบริษัทขายยางรถยนต์เท่านั้น
ส่วนนายประจวบ เป็นตัวแทนขายอาหารเสริมสมุนไพร
ไม่เคยมีประวัติว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจก่อสร้าง หรือ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง หรือ มีฐานะทางการเงินในระดับผู้ลงทุนพันล้านแต่อย่างใด
4. ที่ตั้งบริษัทพบเป็นตึกแถวเก่าซอมซ่อ
เพจ CSI LA ไปสืบสถานที่ตั้งของบริษัท พบว่า
เป็นอาคารพาณิชย์สูง 4 ชั้น เก่าและรกร้างซ่อมซ้อ ภายในซอยพุทธบูชา 44 เขตทุ่งครุ ซึ่งเป็นที่ตั้งบริษัทต่างๆ ถึง 9 แห่ง แถมป้ายชื่อเขียนผิดจาก China เป็น Chaina ทั้งหมดล้วนยิ่งทำให้บริษัทนี้ ขาดความน่าเชื่อถืออย่างมากในสายตาสาธารณะชน
5.ความพิรุธในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผู้รับเหมาควรมีประสบการณ์และความสามารถที่พิสูจน์ได้ ไม่เอาบริษัท No name มาทำอย่างแน่นอน แล้วนี่บริษัทใคร? ไม่รู้จักสักราย
ปกติโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป รัฐจะนำเข้าโครงการ “ข้อตกลงคุณธรรม” คือ ให้ตัวแทนภาคประชาชนมาร่วมสังเกตการณ์และตรวจสอบได้
เพื่อป้องกันการล็อกสเปกและการฮั้วประมูล
ตึกนี้ก็เข้าร่วมข้อตกลง เชิญ “องค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น” มาเป็นตัวแทนภาคประชาชน
แต่…เชิญแบบมีพิรุธ คือ มาเชิญ หลังจากที่ สตง. ได้มีการเลือกผู้รับเหมา-ผู้ควบคุมงาน ไปแล้ว และมี TOR พร้อมแบบก่อสร้างแล้ว โดยอ้างว่าในตอนแรกรัฐไม่ให้ สตง. เข้าร่วม ข้อตกลงคุณธรรมนี้
น่าห่วงคือพบว่าบริษัทนี้อาจ ไม่ได้สร้างแค่ตึก สตง.
บริษัทนี้เคยเป็นผู้สร้าง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มูลค่า 716 ล้านบาท โดยสร้างเสร็จปี 2562 หลังจากที่บริษัทนี้ เพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2561
คล้ายกับว่าตั้งบริษัทแล้ว ก็ชนะงานประมูลรัฐระดับพันล้านโดยทันที โดยประวัติไม่มีผลงานอื่นๆเทียบเคียงเลย
และยังมีการเปิดเผยอีกว่าขณะนี้ มีโครงการรัฐอีกมากมายที่ถูกสร้างโดยบริษัทนี้ ทั้ง แฟลตตำรวจ ทหาร ศาล รพ. ศูนย์ราชการ หวั่นเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย