"แมคโดนัลด์" ยอดขายสะดุด รับพิษภาษี-เงินฝืด l การตลาดเงินล้าน

McDonald’s (แมคโดนัลด์) ยักษ์ใหญ่วงการฟาสต์ฟู้ด รายงานผลประกอบการไตรมาสแรก ยอดขายทั่วโลก (Global comparable sales) ลดลงร้อยละ 1 ทั้งที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.95 โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ตลาดใหญ่ที่สุดของบริษัท ยอดขายดิ่งลดลงถึงร้อยละ 3.6 ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้เกือบ 7 เท่า ถือเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 ในปี 2020
Chris Kempczinski ซีอีโอของ McDonald's กล่าวถึงสถานการณ์ว่า นี่คือช่วงเวลาท้าทายที่สุดของตลาดและยอมรับว่า ลูกค้ากลุ่มรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อยมาใช้บริการน้อยลงในระดับเลขสองหลักเมื่อเทียบกับปีก่อน
ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่แค่ McDonald’s ที่เจอ บริษัทร้านอาหารอย่าง Domino’s, Chipotle และ Starbucks ก็ออกมาเตือนคล้ายกันว่า ผู้บริโภคอเมริกันกำลังรัดเข็มขัด ไม่กินข้าวนอกบ้านบ่อยเหมือนก่อน โดยเฉพาะในยุคที่ค่าครองชีพยังสูงต่อเนื่อง
นักวิเคราะห์ชี้ว่า ความไม่แน่นอนจากภาษีนำเข้าที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอ อาจทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยข้อมูลล่าสุดพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี และอาจเป็นสัญญาณเบื้องต้นของภาวะถดถอยในปี 2025
Sky Canaves นักวิเคราะห์จาก EMarketer กล่าวว่า ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมากที่สุด และหนึ่งในสิ่งแรกที่พวกเขาจะตัดก็คือการรับประทานอาหารนอกบ้าน
เพื่อตอบสนองพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป McDonald’s จึงเร่งเดินเกมโปรโมชันด้วยชุดอาหารสุดคุ้มราคา 5 ดอลลาร์ ซึ่งจะขยายใช้ตลอดปี 2025 โดยหวังดึงดูดลูกค้าที่กำลังลังเลกับการใช้จ่ายในภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน
แม้ภาพรวมยอดขายจะลดลง แต่ McDonald’s ก็ยังพอมีข่าวดีจากบางภูมิภาค โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดที่ดำเนินการผ่านพันธมิตรท้องถิ่น เช่น ตะวันออกกลางและญี่ปุ่น ซึ่งมียอดขายเพิ่มร้อยละขึ้น 3.5 จากปีที่แล้ว โดยความต้องการในตะวันออกกลางเริ่มกลับมาหลังการคว่ำบาตรไม่เป็นทางการเมื่อปีก่อน ที่เกิดจากกระแสไม่พอใจแบรนด์ตะวันตกในกรณีความขัดแย้งฉนวนกาซา ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ McDonald's อย่างหนักในภูมิภาค
แม้ McDonald’s จะยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่ผลประกอบการไตรมาสนี้ส่งสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มกระทบพฤติกรรมผู้บริโภคแล้วอย่างเห็นได้ชัด และแบรนด์ยักษ์ใหญ่อาจต้องปรับแผนรับมือกันอีกหลายระลอก หากคลื่นเศรษฐกิจครั้งใหม่นี้รุนแรงกว่าที่คาด