รวมสถิติ Mobile Banking ล่มในไทยตลอดครึ่งปี 2565
แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้มีบัญชีผู้ใช้งานแอปธนาคารหรือบริการทางการเงินทุกคนเหมือนกับประเทศไอซ์แลนด์และเดนมาร์ก แต่จากข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) ก็พบว่าไทยนั้นมีประชากรที่เข้าถึงบริการธนาคารบนมือถือ (Mobile Banking) เกือบ 96% ดังนั้น หากแอปพลิเคชันเหล่านี้ไม่สามารถให้บริการ หรือที่เรียกว่าล่ม ก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้งานของประชาชนได้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้รวบรวมข้อมูลการให้บริการขัดข้องบนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารต่าง ๆ และประกาศออกสู่สาธารณชน
ข้อมูลดังกล่าวจะประกาศในรูปแบบของไตรมาส โดยจำแนกออกเป็นจำนวนครั้งที่ล่ม และเวลาที่ล่มร่วมต่อไตรมาส และหากเจาะลึกลงไปที่ 2 ไตรมาส แรกของปีนี้จะพบว่ามีธนาคารต่าง ๆ มีปัญหาในการให้บริการอยู่พอสมควร โดยพบว่าตลอดครึ่งปี 2565 ที่ผ่านมา มีปัญหาขัดข้องจากทุกธนาคารบนแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันรวมกว่า 30 ครั้ง และเสียเวลารวมกันกว่า 81 ชั่วโมง
ธนาคารไทยธนชาตมีเหตุขัดข้องถึง 12 ครั้ง กินเวลารวมกว่า 38 ชั่วโมง ตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากปัญหาสะสมในการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทย กับธนาคารธนชาตเข้าด้วยกัน รวมถึงธนาคารยังยกเครื่องระบบแอปพลิเคชันและส่วนประกอบต่าง ๆ ใหม่ทั้งหมด แต่ก็แลกกับปัญหาการล่มของแอปที่นานจนติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ (Twitter) มาแล้วก่อนหน้านี้
ขณะที่อันดับที่ 2 คือธนาคารกรุงเทพ ที่ล่มไปทั้งหมด 3 ครั้ง แต่กินเวลารวมกันกว่า 22 ชั่วโมง ใน 2 ไตรมาส ซึ่งเป็นอีกธนาคารที่มีการปรับปรุงรูปแบบและลักษณะการให้บริการบนแอปพลิเคชันของตนเองครั้งใหญ่เช่นกัน หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของหน้าตา (User Interface: UI) และรูปแบบการบริการที่ตามหลังธนาคารอื่นมาก่อนหน้านี้
ในขณะที่แบงก์อื่น ๆ อย่างกรุงไทยก็เคยล่มไป 3 ครั้ง กินเวลา 5 ชั่วโมง และกรุงศรีอยุธยา ที่ถึงแม้จะล่มเพียงครั้งเดียว แต่ก็กินเวลาไปถึง 4 ชั่วโมง ในขณะที่ธนาคารกสิกรไทยในครึ่งปีนี้ล่มเพียงครั้งเดียว และใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ส่วนคู่แข่งอย่างแบงก์ม่วง ซึ่งมีเอสซีบี อีซี่แอป (SCB EASY App) เป็นจุดเด่นในการให้บริการนั้นล่มไปถึง 8 ครั้ง แต่ใช้เวลารวมกันไม่ถึง 7 ชั่วโมง ส่วนธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และธนาคารซิตี้แบงก์ ทั้งคู่เคยมีระบบขัดข้อง 1 ครั้ง ใช้ระยะเวลาแก้ปัญหา 2 ชั่วโมง เหมือนกัน
ในข้อมูลนี้ยังพบว่าธนาคารหลายแห่งไม่ได้มีรายงานการขัดข้องตลอดครึ่งปีที่ผ่านมา เช่น ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารแลนด์แอนด์เฮาส์ และธนาคารยูโอบี ซึ่งเป็นผลดีโดยต่อลูกค้าของทั้ง 3 ธนาคาร และข้อมูลนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะจัดทำและประกาศผลรายไตรมาสเพื่อให้ทางธนาคารปรับปรุงการให้บริการเพื่อผลประโยชน์ต่อลูกค้าต่อไป
ที่มาข้อมูล ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ที่มารูปภาพ Unsplash