รีเซต

“คิม” สั่งปล่อยดาวเทียมจารกรรม ต่อต้านภัยคุกคามจากสหรัฐฯ-เกาหลีใต้

“คิม” สั่งปล่อยดาวเทียมจารกรรม ต่อต้านภัยคุกคามจากสหรัฐฯ-เกาหลีใต้
TNN ช่อง16
19 เมษายน 2566 ( 16:03 )
78
“คิม” สั่งปล่อยดาวเทียมจารกรรม ต่อต้านภัยคุกคามจากสหรัฐฯ-เกาหลีใต้





สั่งปล่อยดาวเทียมจารกรรมตามแผน


สำนักข่าวกลางเกาหลีเหนือ หรือ KCNA ของรัฐบาลเกาหลีเหนือ รายงานข่าวในวันนี้ (19 เมษายน) ว่า คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ ปล่อยดาวเทียมจารกรรมดวงแรก ตามเวลาที่กำหนดไว้ กล่าวย้ำว่า การได้รับข้อมูลข่าวสารตามเวลาจริงเกี่ยวกับสภาพการทางทหารล่าสุดของกองกำลังฝ่ายศัตรู คือ ภารกิจที่สำคัญที่สุด


ภาพข่าวของ KCNA เห็น คิม จองอึน พร้อมด้วยบุตรสาว และคณะเจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือ ยืนอยู่ด้านหน้าวัตถุที่คาดว่า เป็นดาวเทียมจารกรรมดวงแรกของเกาหลีเหนือ




ยืนยันทดสอบเสร็จสมบูรณ์แล้ว


เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือยังยืนยันว่า การผลิตดาวเทียมจารกรรมดวงแรกดังกล่าว เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ไม่ได้เปิดเผยวันเวลาชัดเจนในการปล่อยดาวเทียมดังกล่าว


ผู้นำคิมออกคำสั่งดังกล่าวระหว่างการเยือนสำนักพัฒนาอวกาศแห่งชาติเกาหลีเหนือเมื่อวานนี้ นอกจากนี้ ยังสั่งให้ปล่อยดาวเทียมสอดแนมอีกหลายดวง ในวงโคจรต่าง ๆ กัน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสอดแนมของเกาหลีเหนือ 


เกาหลีเหนือได้เสร็จสิ้นการทดสอบขั้นสุดท้ายความพร้อมของดาวเทียมจารกรรมดวงแรกของเกาหลีเหนือตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว และระบุว่า จะเสร็จสิ้นขั้นตอนการเตรียมการสำหรับการปล่อยดาวเทียมดังกล่าวในเดือนเมษายนปีนี้


การนำดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจรจะต้องใช้จรวดพิสัยไกล แต่การยิงเหล่านี้ถูกห้ามโดยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งมองว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการปกปิดการทดสอบเทคโนโลยีขีปนาวุธพิสัยไกล


เกาหลีเหนือส่งดาวเทียมสำรวจโลกดวงแรกและดวงที่สองขึ้นสู่วงโคจรในปี 2012 และ 2016 ตามลำดับ ทำให้เกิดมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่จากสหประชาชาติ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติกล่าวว่า ไม่มีการส่งภาพจากดาวเทียมดวงใด กลับไปยังเกาหลีเหนือเลย



ภาพ: STR / KCNA VIA KNS / AFP



ภาพ: Reuters




พิ่มขีดความสามารถการสอดแนม


รายงานระบุว่า ขณะนี้ผู้นำคิมได้ให้ความสำคัญสูงสุดกับการเพิ่มขีดความสามารถในการสอดแนมของเกาหลีเหนือ เพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ 


ผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า แม้เกาหลีเหนือจะพร่ำบ่นเกี่ยวกับการซ้อมรบระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ แต่ก็ใช้การซ้อมรบดังกล่าวเป็นข้ออ้างในการเพิ่มขีดความสามารถและกดดันให้สหรัฐฯ ยอมอ่อนข้อให้เช่นกัน


ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ เขาเพิ่งกล่าวว่า การที่สหรัฐฯ กับเกาหลีใต้เพิ่มแรงกดดันทางทหารต่อเกาหลีเหนือ ก็เป็นธรรมดาที่เกาหลีเหนือจำเป็นต้องพัฒนาการป้องปรามทางทหารที่แข็งแกร่งทัดเทียมกันขึ้นมา เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่ร้ายแรงมากขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต 


คิมยังกล่าวหาสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ว่าขยายปฏิบัติการทางทหารที่ไม่เป็นมิตร ในนามของการเสริมทัพพันธมิตร และระบุว่า สหรัฐฯ กำลังพยายามเปลี่ยนเกาหลีใต้ให้เป็นฐานทัพขั้นสูง สำหรับการรุกรานและคลังแสงสำหรับสงคราม โดยการใช้ทรัพย์สินทางทหาร เช่น เครื่องบิน เรือบรรทุกเครื่องบิน และเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ในภูมิภาค


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปแบบเชื้อเพลิงแข็ง หรือ ICBM ซึ่งเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ และยังได้พัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง และขีปนาวุธหลายหัวรบ แม้ว่าจะไม่ชัดเจนว่า ใกล้จะใช้งานได้จริงหรือยัง


เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้ว และตั้งแต่ต้นปีนี้ยิงทดสอบขีนาวุธไปแล้ว 30 ลูก เนื่องจากคิมพยายามปรับปรุงและพัฒนาขีดความสามารถทางทหารของประเทศให้ทันสมัย




สหรัฐฯ-เกาหลีใต้ พร้อมรับมือเกาหลีเหนือ


พล.ร.อ. จอห์น อาควิลิโน ผู้นำกองบัญชาการภาคพื้นอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ ระบุว่า สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการป้องกันความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีสัญญาณของสงครามในอินโดแปซิฟิก แต่การยั่วยุด้วยขีปนาวุธอย่างต่อเนื่องของเกาหลีเหนือ พร้อมกับภัยคุกคามอื่น ๆ ก่อให้เกิดความท้าทายอย่างร้ายแรงต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค 


พร้อมระบุว่า INDOPACOM ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อป้องกันความขัดแย้ง แต่ไม่ใช่การยั่วยุ และ “สงครามเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่ได้อยู่ใกล้แค่เอื้อม” 


ขณะที่ พล.อ.พอล ลาคาเมรา ผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐฯ เกาหลี เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ ระบุว่า เราต้องไม่ถือว่าพันธมิตรเป็นจุดศูนย์กลางในการยับยั้งระบอบคิม สงครามเกาหลีสอนว่า เราต้องพร้อมเสมอร่วมมือกับพันธมิตรของเราเพื่อให้แน่ใจว่าสันติภาพและเสถียรภาพบนคาบสมุทรเกาหลีจะดำเนินต่อไป


อย่างไรก็ตาม ลาคาเมรายืนยันว่า กองกำลังร่วมของเกาหลีใต้และสหรัฐฯ “พร้อม” หากเกาหลีเหนือตัดสินใจกลับมาสู้รบกับเกาหลีใต้อีกครั้ง 

—————

แปล-เรียบเรียง: เสาวนีย์ พิสิฐานุสร และ สุภาพร เอ็ลเดรจ 

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

1, 2


ข่าวที่เกี่ยวข้อง