รีเซต

ขนส่งทางบก เอาจริง! "รถบรรทุก-โดยสาร"ควันดำ ปรับทันที 5 พันบาท ห้ามใช้จนกว่าจะแก้ไข

ขนส่งทางบก เอาจริง! "รถบรรทุก-โดยสาร"ควันดำ ปรับทันที 5 พันบาท ห้ามใช้จนกว่าจะแก้ไข
มติชน
11 มกราคม 2565 ( 15:42 )
68

กรมการขนส่งทางบก คุมเข้มต่อเนื่อง ตรวจควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารบนท้องถนน เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พบค่าควันดำเกินกฎหมายกำหนด ปรับสูงสุด 5,000 บาท และสั่งห้ามใช้รถจนกว่าจะแก้ไขและนำเข้าตรวจสภาพ เดินหน้าสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะและขนส่งสินค้า ลดการเกิดมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน

 

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ปัญหามลพิษที่เกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ทั้งรถยนต์ใหม่และเก่าบนท้องถนนที่มีการจราจรหนาแน่น ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดเร่งดำเนินการลดปริมาณค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของประชาชน โดยกรมการขนส่งทางบก ได้ดำเนินการตามมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ตามแผนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง

 

โดยได้มีมาตรการให้สำนักงานขนส่งทุกแห่งตรวจวัดควันดำรถทุกประเภทที่มาดำเนินการทางทะเบียนและภาษีรถ เช่น การโอนรถ การเปลี่ยนสีรถ เป็นต้น รวมถึงเข้มงวดกำกับ ดูแล สถานตรวจสภาพรถเอกชน (ตรอ.) ทั่วประเทศ โดยจัดตั้งศูนย์ควบคุมการตรวจสภาพรถ (VICC) เพื่อควบคุมตรวจสอบการดำเนินการตรวจสภาพรถแบบเรียลไทม์ผ่านกล้อง CCTV ใช้เครื่องวัดควันดำระบบวัดความทึบแสงแทนเครื่องวัดควันดำระบบกระดาษกรอง เพื่อประสิทธิภาพในการตรวจวัด และควบคุมการตรวจสภาพรถของ ตรอ. ให้เข้มงวดการตรวจวัดควันดำรถยนต์ ควบคู่กับมาตรการเข้มงวดตรวจควันดำรถบรรทุกและรถโดยสารอย่างต่อเนื่อง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล บนถนนสายหลักและสายรองทั่วประเทศ

 

โดยผลการดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 9 มกราคม 2565 ตรวจรถบรรทุกและรถโดยสารทั้งสิ้น 67,358 คัน ตรวจพบรถควันดำเกินเกณฑ์มาตรฐาน 45 เปอร์เซ็นต์ ทั้งหมด 332 คัน คิดเป็น 0.49 % ทั้งนี้ หากตรวจพบค่าควันดำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือเกินเกณฑ์มาตรฐาน ผู้ฝ่าฝืนจะถูกเปรียบเทียบปรับ 5,000 บาท และสั่งห้ามใช้รถด้วยการพ่นข้อความ “ห้ามใช้” โดยเจ้าของรถต้องนำรถไปแก้ไขและเข้ารับการตรวจสภาพ ณ สำนักงานขนส่ง เมื่อผ่านการตรวจสภาพจึงสามารถลบข้อความห้ามใช้ออกและนำรถไปใช้งานได้

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการใช้รถพลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การนำรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ที่ใช้ก๊าซ NGV เป็นเชื้อเพลิงมาใช้ในระบบขนส่งสาธารณะและขนส่งสินค้าทดแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ขับขี่รถบนท้องถนนทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกิดจากเครื่องยนต์ได้ด้วยตนเองด้วยการใส่ใจกับการบำรุงรักษาและหมั่นดูแลเครื่องยนต์ไม่ให้ก่อปัญหาควันดำจากผงเขม่าสีดำขนาดเล็กที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเครื่องยนต์ เมื่อนำรถมาใช้งานบนท้องถนน หมั่นตรวจเช็กหัวฉีดและปั๊มหัวฉีดน้ำมันให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานอยู่เสมอ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามระยะเวลาที่บริษัทผู้ผลิตกำหนด ทำความสะอาดไส้กรองอากาศอย่างสม่ำเสมอ

โดยรถยนต์ที่ใช้งานเป็นประจำจะต้องเปลี่ยนทุกๆ 5,000 กิโลเมตร หรือทุก 3 เดือน ส่วนรถที่ใช้งานทั่วไปจะต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเมื่อขับถึงระยะ 8,000-10,000 กิโลเมตร หรือทุก 6 เดือน ชำระล้างสิ่งสกปรกในท่อไอเสียด้วยการฉีดน้ำเข้าไปทำความสะอาดภายในท่อไอเสีย และตรวจเช็กหัวฉีดและปั๊มหัวฉีดน้ำมันให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งาน ทำการตรวจเช็กปั๊มจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและหัวฉีดน้ำมันโดยนำเข้าศูนย์บริการ เปลี่ยนชิ้นส่วนที่ชำรุดสึกหรอ รวมทั้งการตรวจเช็กอัตราและจังหวะการฉีดน้ำมันให้ถูกต้อง

อีกทั้งควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการขับรถแบบกระชากหรือเหยียบแรงเกินไป การปรับแต่งเครื่องยนต์ให้มีกำลังม้ามากขึ้น หรือการบรรทุกน้ำหนักเกินสมรรถนะซึ่งต้องใช้กำลังเร่งเครื่องยนต์ ส่งผลให้เครื่องยนต์มีการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์สาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาควันดำ

ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสรถบรรทุกและรถโดยสารควันดำ เพื่อให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินการเรียกผู้กระทำผิดมารายงานตัวและสอบสวน ผ่านศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารแลรับเรื่องร้องเรียน สายด่วน 1584, Line@: @1584DLT, Facebook: 1584 ร้องเรียนรถโดยสารสาธารณะ https://www.facebook.com/dlt1584 เว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/ หรือhttps://www.dlt.go.th/, แอปพลิเคชัน DLT GPS, E-mail: dlt_1584complain@hotmail.com ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง