ข่าวนี้จริงไหม ? สะพานไทย-เบลเยียม แอ่นตัว
ทีมข่าว tnnthailand ลงพื้นที่สำรวจสะพานตามที่ข้อมูลที่เผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย พร้อมสอบถามประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ระบุว่า
" แฟนก็ส่งข้อมูลมาให้ดูเหมือนกัน ตอนแรกก็ไม่กังวลเท่าไหร่ พอเกิดเหตุการณ์ก่อสร้างบนท้องถนนบ่อยๆ เริ่มกลัว เราก็ดูด้วยตาเปล่านะ แต่มองไม่เห็นอะไร ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีหน่วยงานมาตรวจสอบ จะได้สบายใจ เพราะเราต้องขับวินผ่านทุกวัน "
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ชี้แจ้งกับทีมข่าว tnnthailand ว่า ข่าวนี้ไม่เป็นความจริง โดยระบุว่า เป็นข่าวเก่าที่มีการแชร์ทางโซเชียลมีเดียเป็นระยะ ซึ่งที่ผ่านมากทม.ได้มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาเป็นอย่างดี สะพานสามารถรับน้ำหนักได้ตามมาตรฐานและมีความปลอดภัย
ทำไม สะพานไทย-เบลเยียม ซ่อมบ่อย ?
" ย้อนไปตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2566 รวม 10 ปี ซ่อมสะพานไป 3 รอบ ซึ่งเป็นการซ่อมบำรุงตามรอบเพื่อความปลอดภัย "
ปี 2556 ซ่อมรอยต่อสะพาน ทำสีใหม่
ปี 2560 ซ่อมรอยต่อสะพาน ระบบระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าส่องสว่าง
ปี 2565 ซ่อมรอยต่อสะพาน ซ่อมระบบระบายน้ำ ซ่อมผิวจราจรบนสะพาน
ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ระบุ โครงสร้างสะพานไทย-เบลเยียม เป็นโครงสร้างเหล็ก พื้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ( ค.ส.ล.) ปูผิวด้วยยางมะตอย ( แอสฟัลท์ ) โครงสร้างเหล็กสามารถไหวตัวได้ ตามธรรมชาติ แต่ไม่ได้ทำให้เกิดความไม่มั่นคงแข็งแรง
" สะพานทุกสะพาน ถ้ามีการแอ่นตัวให้เราเห็นกับตา นั่นหมายถึงจะต้องพังถล่มเดี๋ยวนั้น เพราะมาตรฐานการออกแบบ สามารถแอ่นตัวได้ 4 เซนติเมตร ซึ่งไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขณะที่สะพานไทย-เบลเยียม ได้มีการทดลองและตรวจสอบด้วยการนำรถบรรทุกไปวิ่งบนเส้นทาง แอ่นตัวเพียง 1 เซนติเมตร ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานที่กำหนด จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า สะพานมีความมั่นคงแข็งแรง สามารถใช้งานได้ "
เรียบเรียงโดย : ธัญรมณ ไพศาลสุนทรกิจ
ผู้สื่อข่าวสายสังคม คอลัมน์ ข่าวนี้จริงไหม?
ช่างภาพTNNถ่าย