สารเคลือบแผลชนิดใหม่ "เรืองแสง" เพื่อบอกปริมาณของออกซิเจนในแผล
ปกติแล้วการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อไม่ใช่การผ่าตัดเสร็จแล้วจบเลย เนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายยังต้องมีการติดตามอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกมันได้รับสารอาหารและออกซิเจนเพียงพอ หนึ่งในวิธีประเมินที่ใช้กันในปัจจุบันการใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Oximeter) ซึ่งมันอาจจะใช้งานไม่สะดวกสักเท่าไร
ที่มาของภาพ https://newatlas.com/medical/glowing-bandage-monitors-oxygen-uptake-transplanted-tissue/
นักวิทยาศาสตร์จากโรงพยาบาล Massachusetts General จึงได้คิดค้นวิธีการใหม่ที่สามารถประเมินออกซิเจนได้ง่ายกว่า และเป็นการประเมินเฉพาะจุดที่แม่นยำกว่าการวัดออกซิเจนจากปลายนิ้ว พวกเขาเรียกมันว่า "สารเคลือบแผลเรืองแสง"
สารเคลือบชนิดนี้จะทำหน้าที่คล้ายกับผ้าพันแผล (Liquid bandage) มีลักษณะเป็นของเหลวที่เกาะกลุ่มกันได้ดี ช่วยปกคลุมแผลไม่ให้โดนสิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปจากสารเคลือบแผลชนิดอื่น คือการผสมสารจำพวก Phosphorescent ลงไปด้วย สารชนิดนี้จะเรืองแสงได้ในช่วงสีแดงถึงสีเขียว บ่งบอกถึงปริมาณออกซิเจนจากต่ำไปสูงตามลำดับ
ที่มาของภาพ https://sciencedipity.co.uk/glowing-fluorescent-liquid-highlighter-pen/
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองในหญิง 5 รายที่มีการผ่าตัดเต้านม และต้องนำเนื้อและผิวหนังจากต้นขามาปิดทับส่วนที่ถูกตัดออก นักวิทยาศาสตร์ได้ทาสารเคลือบเรืองแสงนี้คลุมเนื้อส่วนที่นำมาปลูกถ่าย และประเมินเทียบกับการวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
ผลปรากฏว่าการแสดงสีของสารเคลือบแผลนั้น ค่อนข้างตรงกับค่าความเข้มข้นของออกซิเจนที่วัดได้จากปลายนิ้ว แสดงให้เห็นว่าการทดลองนี้นำไปสู่พัฒนาการในการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ ซึ่งไม่ต้องคอยประเมินค่าออกซิเจนจากปลายนิ้วที่มีสายระโยงระยางลุกเดินไม่สะดวกอีกต่อไป
ที่มาของภาพ https://www.wkhs.com/health-resources/wk-health-library/medical-procedures-tests-care-and-management/dermatology/skin-grafting
ในอนาคตทีมนักวิทยาศาสตร์จะเพิ่มสารกระตุ้นที่ช่วยให้สารเคลือบแผลนี้ สามารถเรืองแสงได้นานตลอดระยะเวลาที่มีการติดตามการเติบโตของเนื้อเยื่อปลูกถ่าย หากทำได้สำเร็จก็จะเริ่มทดลองในอาสาสมัครที่มีจำนวนมากขึ้นในลำดับถัดไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas