ศาลสหรัฐฯ ชี้ Google ผูกขาดตลาดโฆษณาออนไลน์อย่างผิดกฎหมาย

วันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ผู้พิพากษาศาลแขวงลีโอนี บรินเคมา (Leonie Brinkema) ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ได้มีคำตัดสินว่า บริษัท กูเกิล (Google) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ อัลฟาเบต (Alphabet Inc.) มีพฤติกรรมผูกขาดตลาดเทคโนโลยีโฆษณาออนไลน์อย่างผิดกฎหมายใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ ตลาดเซิร์ฟเวอร์โฆษณาสำหรับผู้เผยแพร่ (Publisher Ad Server) และตลาดแลกเปลี่ยนโฆษณา (Ad Exchange)
คำตัดสินดังกล่าวอาจนำไปสู่การแยกธุรกิจโฆษณาบางส่วนของ Google ตามคำร้องของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ (DOJ) ในคดีต่อต้านการผูกขาด โดยระบุว่า Google "จงใจซื้อและรักษาอำนาจผูกขาด" ผ่านวิธีการบีบบังคับให้ผู้เผยแพร่ต้องใช้บริการแลกเปลี่ยนโฆษณาควบคู่กับเซิร์ฟเวอร์ของตน ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมขัดต่อการแข่งขันเสรี
แม้ผู้พิพากษาจะไม่รับฟังข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการซื้อกิจการของ Google แต่ก็ยืนยันว่าแนวนโยบายที่บริษัทใช้ได้ส่งผลเสียต่อคู่แข่ง ผู้เผยแพร่เนื้อหา และผู้บริโภคทั่วไปในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำไปใช้ควบรวมกับเครื่องมือที่มีอำนาจเหนือตลาด
ลี-แอน มัลโฮลแลนด์ (Leanne Mulholland) รองประธานฝ่ายกิจการกำกับดูแลของ Google กล่าวว่า บริษัทจะยื่นอุทธรณ์ พร้อมย้ำว่าผู้เผยแพร่ยังมีตัวเลือกที่หลากหลาย และเลือกใช้บริการของ Google เพราะเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพและราคาคุ้มค่า
ภายหลังคำตัดสินดังกล่าวหุ้นของ Alphabet ร่วงลง 1.4% ขณะที่กระทรวงยุติธรรมเสนอให้ Google แยกธุรกิจ Google Ad Manager ซึ่งรวมถึงเซิร์ฟเวอร์โฆษณาและแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนออกจากกัน
คดีนี้นับเป็นคดีต่อต้านการผูกขาดครั้งที่ 2 ของ Google ต่อจากคดีเกี่ยวกับตลาดค้นหาทางออนไลน์ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา และเกิดขึ้นท่ามกลางการบังคับใช้กฎหมายในระดับสูงต่อกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เมตา (Meta), แอมะซอน (Amazon) หรือ แอปเปิล (Apple) ซึ่งต่างถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมผูกขาดในรูปแบบต่าง ๆ
ทางด้านของไมเคิล แอชลีย์ ชูลมาน (Michael Ashley Schulman) หัวหน้านักลงทุนของ Running Point Capital ให้ความเห็นว่า คำตัดสินนี้อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในท่าทีของศาลสหรัฐฯ ที่เริ่มเปิดรับ "แนวทางแก้ไขเชิงโครงสร้าง" ซึ่งอาจมีผลกระทบในวงกว้างต่อหุ้นเทคโนโลยีอื่นที่มีโครงสร้างธุรกิจแบบบูรณาการ เช่น Meta และ Amazon
ขณะนี้ Google กำลังเผชิญการพิจารณาคดีอีกหนึ่งคดีในกรุงวอชิงตัน โดยกระทรวงยุติธรรมยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาสั่งให้ Google ขายเบราว์เซอร์ Chrome และดำเนินมาตรการเพื่อยุติการผูกขาดในตลาดค้นหาข้อมูลออนไลน์ ซึ่งหากศาลตัดสินตามคำร้อง Google อาจต้องปรับโครงสร้างธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญในหลายด้าน