อิฐจากถุงขยะพลาสติก แข็งกว่าซีเมนต์ 2 เท่า
บริษัท ไทน์กรีน (TileGreen) สตาร์ตอัปจากประเทศอียิปต์ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 ได้ผลิตอิฐที่อ้างว่ามีความแข็งมากกว่าซีเมนต์ถึง 2 เท่า จากถุงขยะพลาสติกภายในประเทศ โดยอิฐแต่ละก้อนจะทำมาจากถุงพลาสติกรีไซเคิลถึง 125 ถุง
กระบวนการผลิตอิฐจากถุงขยะพลาสติก
สำหรับกระบวนการที่ใช้จะเกิดขึ้นภายในโรงงานของบริษัทชานเมืองไคโร ประเทศอียิปต์ โดยบริษัทจะนำถุงขยะพลาสติกไปย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ พร้อมหลอมและรีดออกมาเป็นแผ่น แล้วนำมาขึ้นรูปในแม่พิมพ์ ซึ่งใช้การบีบอัดด้วยแรงดันสูงและการให้ความร้อนเพื่อเพิ่มความแข็ง
ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะมีลักษณะเป็นอิฐบล็อก ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้ปูพื้นภายนอกอาคาร เช่น พื้นฟุตพาทหรือพื้นลานกิจกรรม โดยจะถูกนำไปขายให้กับบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์และบริษัทรับเหมาเพื่อใช้ปูพื้นภายนอกอาคาร
โดยคาเลด ราฟัต (Khaled Raafat) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไทน์กรีนได้กล่าวถึงเป้าหมายที่จะรีไซเคิลถุงขยะพลาสติกให้ได้ 5 พันล้านใบ ภายในปี 2025 ซึ่งปัจจุบันพวกเขารีไซเคิลถุงขยะพลาสติกมาแล้วมากกว่า 5 ล้านใบ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการ
ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศอียิปต์
สำหรับประเทศอียิปต์เป็นอีกหนึ่งประเทศในแถบเมดิเตอร์เรเนียนที่ประสบกับปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติก โดยมีการทิ้งขยะพลาสติกลงในทะเลมากถึง 74,000 ตันต่อปี ตามรายงานขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature) เมื่อปี 2020
นอกจากนี้ ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ถึง 84 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศอียิปต์มักถูกทิ้งบนถนนหรือถูกเผา ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในที่ตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้นการที่บริษัทออกไอเดียนำถุงขยะพลาสติกมารีไซเคิลเป็นอิฐที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ จึงช่วยลดจำนวนขยะพลาสติกที่จะถูกเผาทำลายไปในแต่ละปีได้
นอกจากแนวคิดการผลิตกระเบื้องจากขยะพลาสติกที่จะเข้ามาช่วยจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกภายในประเทศอียิปต์แล้ว ทางรัฐบาลเองก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยเช่นกัน โดยจะร่วมมือกับร้านค้าเพื่อแบนการใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งภายในกลางปี 2023 นี้ และจะทำการแบนพลาสติกเหล่านี้ทั่วประเทศภายในปี 2024 ด้วย
ข้อมูลและภาพจาก Reuters