"ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย"จ่อเข้า mai ปีนี้ -ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว
#ทันหุ้น-บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด(มหาชน)หรือ TATG ผู้นำในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์โลหะ อุปกรณ์จับยึด และชิ้นส่วนรถยนต์ ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปี เตรียมเสนอขายหุ้นไอพีโอ 100 ล้านหุ้น จ่อเทรดกระดาน mai ภายในปีนี้ นำเงินระดมทุนซื้อและติดตั้งเครื่องจักรใหม่ ทันสมัย ใช้เป็นทุนหมุนเวียน และจ่ายคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์โลหะและชิ้นส่วนรถยนต์ของภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที่ปรึกษา เอเซีย พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด (มหาชน) หรือ TATG เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งไฟลิ่ง อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ ของ TATG ที่ได้ยื่นขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 25.0 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ โดยมีมูลค่าที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 1.00 บาท เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ภายในปี 2567
บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด (มหาชน) ผู้ออกแบบและผลิตเครื่องมือสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ (Tooling) ครอบคลุมถึงการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์โลหะ (Dies) อุปกรณ์จับยึดเพื่อการตรวจสอบ (Checking Fixtures) และอุปกรณ์จับยึดเพื่อการประกอบ (Assembly Jigs) และผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ (Automotive Press Parts) ประกอบไปด้วย 4 บริษัท ได้แก่
1.บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ (ปทุมธานี) จำกัด หรือ TATP, 3. บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ (ชลบุรี) จำกัด หรือ TATC และ 4. บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ (อีสเทิร์น) จำกัด หรือ TATE ด้วยจุดเด่นของโรงงานตั้งอยู่ใน เขตปทุมธานี และชลบุรี ซึ่งถือได้ว่าเป็นแนวยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมรถยนต์ ส่งผลให้กลุ่มบริษัทฯ มีการวางโครงสร้างบริหารแบบ Business Unit มีความคล่องตัวทั้งในการบริหารบุคลากร การผลิต การดูแลลูกค้า ทำให้สามารถตอบสนองเป้าหมายและความต้องการได้ในทุกมิติ ครอบคลุมทั้ง คุณภาพ ต้นทุน และการส่งมอบงานที่ตรงตามเวลาที่กำหนด
ดร.พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นับเป็นความภาคภูมิใจในฐานะบริษัทที่ก่อตั้งโดยคนไทย 100% และเป็นผู้นำการออกแบบและสร้างแม่พิมพ์โลหะ อุปกรณ์จับยึด และชิ้นส่วนยานยนต์คุณภาพสูงในภูมิภาคเอเชีย พร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจให้มีความมั่นคง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับองค์กรสู่มาตรฐานสากล รองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบเต็มขั้น โดยวัตถุประสงค์การระดมทุนครั้งนี้ เพื่อใช้สำหรับลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติม ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ และชำระหนี้สถาบันการเงิน
ด้วยความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมตลอดกว่า 30 ปี นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ ใน ปี พ.ศ. 2536 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ควบคู่การนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่มีความทันสมัย ทัดเทียมกับผู้ผลิตในประเทศญี่ปุ่น โดยมีสายการผลิตชิ้นส่วนทั้งแบบระบบอัตโนมัติและแบบ Manual ตลอดจนการมีระบบบริหารจัดการด้านการผลิตที่มีประสิทธิภาพแบบ Just-In-Time ที่มีความเป็นสากลและใช้ในโรงงานชั้นนำทั่วโลก
และด้วยกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ เน้นสร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้ลูกค้า ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจในรูปแบบครบวงจร (One-Stop Services) ส่งผลให้ TATG ได้รับความไว้วางใจจากคู่ค้าและสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง
ภายใต้แนวคิด “เติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน” และกลยุทธ์ เน้นสร้างความแตกต่างด้านผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้ลูกค้า ส่งผลทำให้ผลประกอบการของกลุ่มบริษัทฯ มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา (2564-2566) กลุ่มบริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 2,547.60 ล้านบาท 2,922.47 ล้านบาท และ 3,002.91 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 35.04 , 14.71 และ 2.75 ตามลำดับ ขณะที่ กำไรสุทธิอยู่ที่ 164.55 ล้านบาท 108.16 ล้านบาท และ 47.87 ล้านบาท ตามลำดับ ลดลงจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนขายและบริการในอัตราที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้
ขณะที่รายได้รวมงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีรายได้รวม 1,340 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.70 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แบ่งเป็นรายได้จากการขายชิ้นส่วนรถยนต์ ฝาครอบหม้อลมเบรครถยนต์ เศษวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์อื่น รวมเกือบร้อยละ 90 สำหรับรายได้จากการบริการออกแบบและผลิตแม่พิมพ์โลหะ และอุปกรณ์จับยึด อยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากความผันผวนในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทฯ ได้วางแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แม่พิมพ์โลหะ และเครื่องมือสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในอนาคต รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วในการผลิต ส่งผลให้มีกำไรสุทธิเท่ากับ 45.87 ล้านบาท พลิกจากงวด 6 เดือนแรกของปีก่อน (2.97) ล้านบาท เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นทั้งกำไรจากการขาย และกำไรจากการบริการ และการลดลงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร สะท้อนการฟื้นตัวของธุรกิจอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา