ธนาคาร "Silicon Valley" ล้ม สะเทือนวงการสตาร์ตอัปและเทคโนโลยีโลก
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ธนาคาร ซิลิคอน แวลลีย์ แบงก์ (Silicon Valley Bank) หรือ SVB ซึ่งเป็นธนาคารผู้ให้กู้ของบริษัทสตาร์ทอัปหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ถูกแห่ถอนเงิน (Bank Run) ออกมาเป็นจำนวนมาก ทำให้หน่วยงานด้านการกำกับดูแลธนาคารของสหรัฐฯ ถึงกับสั่งปิดธนาคารดังกล่าวทันที
สำหรับธนาคาร Silicon Valley Bank เป็นธนาคารที่ใหญ่สุดเป็นอันดับ 16 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อพิจารณาจากสินทรัพย์ มีมูลค่าตลาดสูงถึง 16,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 584,000 ล้านบาท
เหตุการณ์ความเป็นมาของวิกฤตการแห่ถอนเงินจากธนาคาร Silicon Valley Bank เริ่มต้นจากตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (Fed) ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับต่ำสุดเพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อ แต่การเพิ่มดอกเบี้ยทำให้นักลงทุนต้องรัดเข็มขัด และลดการลงทุนกับบริษัทเทคโนโลยีสตาร์ทอัพซึ่งเป็นลูกค้าหลักของ Silicon Valley Bank ลง ทำให้บริษัทส่วนหนึ่งซึ่งฝากเงินไว้ ต้องเริ่มถอนเงินออกมาเพื่อเสริมสภาพคล่อง
ธนาคาร Silicon Valley Bank จึงต้องเร่งเพิ่มเงินในระบบเพื่อให้มีเงินสดเพียงพอสำหรับลูกค้าธนาคาร ด้วยการออกมาขายพอร์ตโฟลิโอพันธบัตร (Bond) มูลค่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยพอร์ตโฟลิโอดังกล่าวให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.79% ซึ่งต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ที่ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 3.9% ซึ่งหมายความว่าเป็นการขายขาดทุน
และเมื่อ Silicon Valley Bank ประกาศบันทึกการขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหตุการณ์นี้ทำให้ลูกค้าจำนวนหนึ่งเริ่มแห่ถอนเงินจากธนาคารเนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ทางการเงิน เหตุการณ์ต่อเนื่องจากนั้น Silicon Valley Bank ได้ประกาศว่าจะขายหุ้นเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ราคาหุ้นของธนาคารลดลง 60% พร้อมกับการที่นักลงทุนกังวลว่า การแห่ถอนเงินฝากอาจทำให้ธนาคารต้องเพิ่มทุนมากขึ้น ยิ่งทำให้ผู้คนยิ่งแห่ไปถอนเงินจากธนาคาร Silicon Valley Bank มากขึ้น เพราะกังวลว่าธนาคารจะล้มละลาย เกิดเป็นภาพการต่อแถวถอนเงินที่กลายเป็นไวรัลนั่นเอง
ที่มาของรูปภาพ Backgrid
จนกระทั่งล่าสุดในวันศุกร์ที่ผ่านมา (10 มีนาคม) ระหว่างที่ Silicon Valley Bank พยายามเพื่อหาแหล่งเงินทุนด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการขายบริษัท แต่หน่วยงานด้านการกำกับดูแลเงินฝาก (FDIC - Federal Deposit Insurance Corporation) ก็ได้สั่งปิดสำนักงานใหญ่ของ Silicon Valley Bank และเข้าดูแลสินทรัพย์ของธนาคาร
ขณะที่บริษัทสตาร์ตอัปต่าง ๆ จำนวนมาก ก็ต้องเผชิญผลกระทบอย่างหนักเนื่องจากปัจจุบัน พวกเขาไม่สามารถถอนเงินออกมาจากธนาคารดังกล่าว เพื่อจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน และจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานด้านการกำกับดูแลเงินฝาก หรือ เอฟดีไอซี FDIC (The Federal Deposit Insurance Corporation) ซึ่งเข้ามาควบคุมธนาคาร Silicon Valley Bank หลังเกิดวิกฤต ประกาศว่า ผู้ฝากเงินจะได้รับการคุ้มครองเงินฝาก 250,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 8,700,000 บาทต่อบัญชีในเบื้องต้น และจะช่วยคุ้มครองผู้ฝากเงินของ Silicon Valley Bank ในมูลค่ารวมของเงินฝากที่ 175,4000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งที่มีการค้ำประกันจากหน่วยงานด้านการกำกับดูแลเงินฝาก (FDIC) หรือไม่มีค้ำประกัน โดยสำหรับคนที่ฝากเงินเกิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะได้เงินคืนตั้งแต่เช้าวันจันทร์ (13 มีนาคม) เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ยังได้ประกาศกองทุนช่วยเหลือ Bank Term Funding Program จำนวน 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้ธนาคารต่าง ๆ ที่ยังดำเนินการอยู่ สามารถเอาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ หรือ ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Mortgage backed securities) มาแลกเพื่อเพิ่มสภาพคล่องได้
ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวออกมาว่า เมื่อประมาณ 15.00 น. ของวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม ตามเวลาประเทศไทย ธนาคารฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ แบงก์กิง คอร์ปอเรชัน หรือ HSBC (Hongkong and Shanghai Banking Corporation) หนึ่งในกลุ่มธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เข้าซื้อกิจการธนาคารซิลิคอน แวลลีย์ แบงก์ที่เพิ่งล่มสลายลงไปเมื่อวันศุกร์ ในราคาเพียง 1 ปอนด์ หรือ 1.21 ดอลลาร์สหรัฐ ในที่สุด
ที่มาของข้อมูล reuters, edition.cnn, cnbc
ที่มาของรูปภาพ Reuters