รีเซต

ไทยยังไม่พบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" ติดตามอาการใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 12 ราย

ไทยยังไม่พบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" ติดตามอาการใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 12 ราย
TNN ช่อง16
30 พฤษภาคม 2565 ( 14:07 )
128
ไทยยังไม่พบผู้ป่วย "ฝีดาษลิง" ติดตามอาการใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง 12 ราย

วันนี้ (30 พ.ค.65) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวยืนยันว่า ยังไม่พบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย แต่พบผู้ป่วยยืนยัน 1 รายมีประวัติเดินทางมาเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิ  2 ชั่วโมง และได้เดินทางต่อไปประเทศออสเตรเลีย ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 12 ราย เป็นผู้โดยสารและลูกเรือในสายการบิน ซึ่งอยู่ในระหว่างการติดตามอาการ เบื้องต้นผ่านไป 7 วันแล้ว ทั้ง 12 รายยังไม่มีอาการ ก็จะเฝ้าระวังต่อไปจนครบ 21 วัน 

 

ขณะที่มีรายงานข้อมูลผู้ป่วยเข้าข่ายอาการโรคฝีดาษลิง 5 ราย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไอซ์แลนด์ 3 ราย ที่เป็นพี่น้องเดินทางเข้ามาเรียนมวยไทยที่จ.ภูเก็ต  ส่วนอีก 2 รายเป็นผู้ที่ใช้สถานที่ออกกำลังกายเดียวกับ 3 รายแรก โดยพบมีตุ่มนูนใส ตามลำตัว แต่เมื่อนำไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR จาก 2 ห้องปฏิบัติการ คือ ของกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิกโรงพยาบาลจุฬาฯ พบผลยืนยันเป็น โรคเริมที่สามารถติดได้ทางผิวหนัง เบื้องต้นผู้ป่วยทั้ง 5 ราย เข้ารับการรักษาที่บำราศนราดูร 

 

ขณะนี้มีการรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษลิง ใน 32 ประเทศ ซึ่งมีรายงานยอดผู้ป่วยทั้งหมด  406 ราย และผู้ต้องสงสัยเข้าข่าย 88 ราย ประเทศที่พบการระบาดหนัก 5 ประเทศ นอกทวีปแอฟฟริกา คือ อังกฤษ  เยอรมัน สเปน  โปรตุเกส และแคนาดา 

 

ด้านแนวทางการเฝ้าระวัง กระทรวงสาธารณสุขได้ นิยามผู้ป่วยสงสัย คือ อาการมีไข้ เจ็บคอ ปวดศรีษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่นตุ่มนูน บริเวณแขนขา และใบหน้า และมีประวัติเชื่อมโยงกับระบาดวิทยา ภายในระยะเวลา 21 วัน หรือกิจกรรมที่มีการรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิง และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ป่า หรือสัตว์นำเข้าจากแอฟริกา 

 

ส่วนผู้ที่เข้าข่ายสงสัย ต้องมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด คือ สัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย หรือ สัมผัสสิ่งของที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่นเสื้อผ้าผู้ป่วย  ผู้สัมผัสร่วมบ้าน เช่น อาศัยอยู่ในห้องเดียวกับผู้ป่วยหรือ ใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย ผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้อง หรืออยู่ใกล้ ผู้ป่วยฝีดาษลิง ภายในระยะ2เมตร หากพบผู้ป่วยในประเทศไทยจะต้องได้รับการยืนยันจากผลห้องปฏิบัติการก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา ตามอาการและแยกกักตัว จนครบ 21 วัน 

 

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ฝากถึงแพทย์ หากพบผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการ เข้าข่ายโรคฝีดาษลิงสามารถแจ้งยืนยันกับกระทรวงสาธารณสุขได้ทันที เนื่องจาก แพทย์ส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นโรคฝีดาษลิงมาก่อน เพราะหายไปจากประเทศไทยนานมาก จึงไม่สามารถคัดกรองอาการด้วยการแยกลักษณะตุ่มหนองที่เกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องใช้การตรวจหาเชื้อ RT-PCR จากห้องปฏิบัติการเท่านั้น

 

ภาพจาก กระทรวงสาธารณสุข 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง