เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (27 เม.ย.2565)
ข่าววันนี้ สถานการณ์วิกฤต "รัสเซียยูเครน" ล่าสุดสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรให้คำมั่นส่งอาวุธหนักเพิ่มให้ยูเครนระหว่างการเจรจากันที่ฐานทัพอากาศเยอรมนี ไม่สนใจคำขู่จากรัสเซียว่า การสนับสนุนอาวุธให้ยูเครน อาจนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ อ่าน : เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (26 เม.ย.2565)
เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (27 เม.ย.2565)
บริษัทผู้ผลิตโดรนของจีน ประกาศระงับการขายอากาศยานไร้คนขับให้แก่รัสเซียและยูเครน
DJI เทคโนโลยี บริษัทผู้ผลิตโดรนสัญชาติจีน เปิดเผยว่า ทาง DJI จะระงับการทำธุรกรรมชั่วคราวในรัสเซียและยูเครน เพื่อให้แน่ใจว่า โดรนของ DJI จะไม่ถูกนำไปใช้ในสงคราม นับเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งแรกของจีน ที่ระงับการขายโดรนให้แก่รัสเซีย ตั้งแต่รัสเซียยกกองทัพบุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์
ถึงแม้กลุ่มบริษัทของชาติตะวันตก ได้ถอนตัวออกจากรัสเซีย เพื่อประท้วงที่รัสเซียบุกยูเครน แต่บริษัทของจีนจำนวนมาก ยังคงดำเนินธุรกิจในรัสเซียตามปกติ และรัฐบาลจีนก็ไม่ได้ออกมาวิจารณ์รัสเซียกรณีบุกยูเครน
โฆษกของบริษัท DJI เปิดเผยว่า การระงับการขายโดรนในรัสเซียและยูเครน ไม่ได้เป็นแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน แต่เป็นแถลงการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกฏของบริษัท และว่า DJI ไม่สนับสนุนการใช้โดรนสร้างความเสียหาย หรือเป็นอันตรายต่อผู้อื่น ดังนั้นทางบริษัทจึงระงับการขายโดรนในรัสเซียและยูเครน เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีการใช้โดรน DJI ในสงคราม
สมัชชาใหญ่ยูเอ็นลงมติรับร่างมติให้สามารถทบทวนการใช้สิทธิยับยั้ง หรือวีโต้
สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ หรือ UNGA ลงมติเมื่อวานนี้ (26 เมษายน) รับรองร่างมติที่กำหนดว่า ให้มีการเปิดประชุมของสมัชชาใหญ่ยูเอ็นโดยอัตโนมัติ เพื่อการทบทวนตรวจสอบ เมื่อใดก็ตามที่มีชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ได้ใช้สิทธิยับยั้ง หรือวีโต้ ต่อร่างมติของคณะมนตรีความมั่นคง
มติใหม่ล่าสุดนี้ จะทำให้สมัชชาใหญ่ยูเอ็น สามารถเปิดการอภิปรายได้โดยอัตโนมัติภายในเวลา 10 วัน หลังจากที่มีการใช้สิทธิยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคง และกำหนดให้ชาติสมาชิกถาวรที่ได้ใช้สิทธิยับยั้งไปนั้น จะต้องชี้แจงเหตุผลของการใช้สิทธิยับยั้งนั้น ต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่
นับเป็นครั้งแรกของยูเอ็น ที่สมัชชาใหญ่จะสามารถทบทวนตรวจสอบการใช้สิทธิยับยั้งของชาติสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงได้ ซึ่งประกอบด้วย 5 ชาติ คือ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียและจีน
อย่างไรก็ตาม มตินี้มิได้ลดอำนาจการใช้สิทธิยับยั้งของ 5 ชาติสมาชิกถาวรลงแต่อย่างใด เพียงแต่สามารถเปิดอภิปรายเพื่อทบทวนตรวจสอบทุกครั้งที่มีการใช้สิทธิยับยั้งเท่านั้น
ความเคลื่อนไหวที่ต้องการให้สามารถตรวจสอบการใช้สิทธิยับยั้งของคณะมนตรีความมั่นคงได้นั้น เริ่มขึ้นมาตั้งแต่เมื่อกว่า 2 ปีก่อน แต่เพิ่งสำเร็จในครั้งนี้
ด้าน คริสเตียน เวนาเวเซอร์ เอกอัครราชทูตลิคเตนสไตน์ประจำยูเอ็น ผู้นำในการเสนอร่างมตินี้ กล่าวว่า มตินี้ได้มอบอาณัติใหม่ให้แก่สมัชชาใหญ่ยูเอ็น ทุกครั้งที่มีการใช้สิทธิยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคง
ประเทศสมาชิกยูเอ็นหลายประเทศได้ท้วงติงมานานแล้วว่า อำนาจการใช้สิทธิยับยั้งนั้น ไม่ใช่ “อภิสิทธิ์” หากแต่เป็น “ความรับผิดชอบ” ของประเทศที่มีอำนาจในการใช้สิทธิยับยั้ง
สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรให้คำมั่นส่งอาวุธหนักเพิ่มให้ยูเครน
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน พบหารือกับผู้แทนสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต และประเทศอื่นรวม 40 ประเทศ ที่ฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ในเยอรมนี
ออสติน กล่าวว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าทั่วโลกจะรวมพลังสนับสนุนยูเครนอย่างรวดเร็วและหนักแน่นเช่นนี้ และว่า เราเห็นพลังการสนับสนุนยูเครนเพิ่มขึ้นทุกวัน เพื่อต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย พร้อมย้ำว่าต้องไม่เสียเวลาอีกต่อไป เราต้องดำเนินการด้านความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วในช่วงที่เกิดสงครามเช่นนี้
รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวด้วยว่า ชาติพันธมิตรของยูเครนจะพบหารือกันทุกเดือนเพื่อสร้างความร่วมมือด้านความช่วยเหลือต่าง ๆ และว่า เป้าหมายเพื่อช่วยให้ยูเครนชนะสงครามเหนือการรุกรานของรัสเซีย และฟื้นฟูให้ยูเครนสามารถรับมือความท้าทายในอนาคตได้
สหรัฐฯ จะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้สงครามครั้งนี้ลุกลามเกินควบคุม ซึ่งเป็นการตอบโต้ต่อคำกล่าวของรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ที่ว่าสงครามครั้งนี้อาจลุกลามไปเป็นสงครามนิวเคลียร์ระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก
ออสติน กล่าวว่า ไม่มีใครต้องการให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ ซึ่งจะไม่มีใครเป็นผู้ชนะ
เมื่อวานนี้ (26 เมษายน) รัสเซียกล่าวหาว่าชาติตะวันตกกำลังทำ "สงครามตัวแทน" กับรัสเซีย ด้วยการส่งกำลังอาวุธให้แก่ยูเครน พร้อมเตือนว่ามีความเสี่ยงที่สงครามครั้งนี้อาจลุกลามไปเป็นความขัดแย้งทางนิวเคลียร์
สหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะส่งทหารของตน หรือของนาโต เข้าไปยังยูเครน แต่สหรัฐและพันธมิตรยุโรป ได้จัดส่งอาวุธหลากหลายชนิด ทั้งปืนใหญ่, โดรน และฐานยิงขีปนาวุธต่อต้านเครื่องบิน และขีปนาวุธต่อต้านรถถัง ให้ยูเครน
ข้อมูล : TNN World
ภาพ : Reuters
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
กดเลย >> community แห่งความบันเทิง
ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี