รีเซต

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (26 เม.ย.2565)

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (26 เม.ย.2565)
TeaC
26 เมษายน 2565 ( 19:17 )
310

ข่าววันนี้ สถานการณ์วิกฤต "รัสเซียยูเครน" ล่าสุดหัวหน้าผู้แทนเจรจาของยูเครนเผย ยูเครนพร้อมเปิดการเจรจารอบพิเศษกับทางรัสเซียโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ อ่าน : เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (25 เม.ย.2565)

 

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (26 เม.ย.2565)

 

เจ้าหน้าที่ EU และ IMF เตือนถึงผลร้ายแรงตามมา หากไม่มีก๊าซธรรมชาติของรัสเซียในยุโรป

เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรป หรือ EU และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกมาเตือนถึงวิกฤตพลังงานที่รุนแรง และผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากยุโรปอาจเผชิญการไม่มีก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย    

 

ขณะที่ EU ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียไปแล้ว 5 รอบ นับตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน เริ่มขึ้นเมื่อราว 2 เดือนก่อน  

 

การคว่ำบาตรของ EU มีเป้าหมายเพื่อทำลายเศรษฐกิจรัสเซีย แต่ไม่ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ  แต่กลับกลายเป็นว่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียกลับมาย้อนเล่นงานเศรษฐกิจยุโรป และมีความเสี่ยงที่จะทำให้ยุโรปเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะงักงันและเงินเฟ้อ

 

แต่ EU ยังไม่พอ เจ้าหน้าที่ยังคงเดินหน้าคว่ำบาตรรัสเซียรอบที่ 6 แม้มีความวิตกว่า ความมั่นคงทางพลังงานของยุโรป จะได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตร ไม่นำเข้าพลังงานจากรัสเซีย  

 

เวรา จูโรวา รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านค่านิยมและความโปร่งใส่ของสหภาพยุโรป เปิดเผยว่า การตัดขาดอย่างสิ้นเชิงจากก๊าซธรรมชาติรัสเซีย จะนำไปสู่วิกฤตพลังงานอย่างรุนแรงในบางประเทศของยุโรป

 

ขณะที่ อัลเฟรด แคมเมอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานยุโรปของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF  เตือนว่า การสูญเสียก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปอย่างรุนแรง ซึ่งแหล่งพลังงานทางเลือก และพลังงานสำรองอาจช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้แค่ 6 เดือนแรก แต่หากสถานการณ์เข้าสู่ฤดูหนาวไปแล้ว ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะรุนแรง

 

EU พึ่งพาพลังงานของรัสเซียอย่างมาก โดยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 40% เมื่อปี 2021 เยอรมนี, อิตาลี และฝรั่งเศส คือ ผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติรัสเซียรายใหญ่ของ EU นอกจากนี้ ยังมีฟินแลนด์ และลัตเวีย ที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติรัสเซียอย่างมาก โดยนำเข้าพลังงานจากรัสเซียมากกว่า 90% ส่วนชาติยุโรป ที่นำเข้าก๊าซธรรมชาติรัสเซียแบบ 100% คือ นอร์ท มาเซโดเนีย, บอสเนีย-เฮอร์เซโกวินา และมอลโดวา

 

เลขาธิการสหประชาชาติ เดินทางไปเยือน และหารือสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในยูเครนกับผู้นำของตุรกี

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ หรือ UN เข้าพบหารือกับประธานาธิบดีเรเซฟ ทายยิบ เออร์โดกัน ของตุรกี ในกรุงอังการา ในวันนี้ (26 เมษายน) กูเตอร์เรสและผู้นำตุรกี เห็นชอบร่วมกัน ต้องมีความพยายามเพิ่มมากขึ้น เพื่อจัดตั้งเส้นทางอพยพที่ปลอดภัยสำหรับพลเรือน และเพื่อส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในยูเครน  

 

พร้อมกันนี้ เลขาธิการ UN ยังได้กล่าวชื่นชมตุรกี ที่พยายามเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย
รายงานข่าว ระบุว่า กูเตอร์เรสยังมีกำหนดเดินทางไปรัสเซียเพื่อพบหารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน และเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัสเซียในวันเดียวกันนี้ คาดว่า ประเด็นหารือหลัก จะเป็นเรื่องของเมืองมารีอูโปล ซึ่งรัสเซียประกาศชัยชนะยึดครองได้แล้ว แต่ยังเหลือที่มั่นสำคัญคือโรงงานเหล็กอาซอฟสทัล ที่ทหารยูเครนยังตรึงกำลังปกป้องไว้อย่างเหนียวแน่น โดยยูเครน ร้องขอให้กูเตอร์เรสเจรจากับรัสเซียเพื่อรับประกันระเบียงมนุษยธรรม เพื่ออพยพพลเรือนที่หลบภัยอยู่ภายในโรงงานเหล็กอาซอฟสทัลด้วย

 

จากนั้น เลขาธิการ UN จะเดินทางไปเยือนยูเครนในวันพฤหัสบดี (28 เมษายน) เพื่อพบหารือกับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี และดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของยูเครนรวมทั้งเข้าพบกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ของ UN เพื่อผลักดันให้ภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในยูเครนมีความคืบหน้า

 

กระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย แถลงเมื่อวันจันทร์ (25 เมษายน)​ ที่ผ่านมาว่า รัสเซียจะขับเจ้าหน้าที่ทางการทูตชาวเยอรมัน 40 คน พ้นประเทศ แต่ข่าวไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดอื่น ๆ

 

แต่รัฐบาลเยอรมนี เชื่อว่า การกระทำของรัสเซียครั้งนี้ น่าจะเป็นการตอบโต้กรณีที่เยอรมนีประกาศขับนักการทูตชาวรัสเซียจำนวนเท่ากัน เมื่อวันที่ 4 เมษายน

 

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนี แอนนาเลนา แบร์บอค ระบุว่า นักการทูตชาวรัสเซีย 40 คน ที่เยอรมนีสั่งให้เดินทางออกนอกประเทศ ไม่เคยทำหน้าที่ในฐานะนักการทูตเลยตลอดเวลาที่อยู่ในเยอรมนี และยังพยายามอย่างเป็นระบบมาหลายปีเพื่อบ่อนทำลายเสรีภาพ และความยึดโยงกันในสังคมของเยอรมนี ส่วนนักการทูตชาวเยอรมันที่ถูกขับจากรัสเซีย ไม่ได้ทำอะไรผิด เยอรมนีต้องการคงสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซียแบบทวิภาคี แม้สภาพแวดล้อมปัจจุบันจะไม่เอื้ออำนวย

 

สื่อรัสเซียรวมทั้ง สำนักข่าว Tass ของรัฐบาลรัสเซีย รายงานว่า มีนักการทูตรัสเซียประมาณ 400 คน ถูกขับออกจาก 28 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งรัสเซียเตือนประทศที่ขับไล่นักการทูตรัสเซียจะเผชิญมาตรการตอบโต้อย่างแน่นอน

 

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ เดินทางถึงเยอรมนี เพื่อเป็นเจ้าภาพประชุมกว่า 40 ประเทศในวันนี้ หารือส่งอาวุธให้ยูเครนอย่างไม่ขาดตอน 

 

ในการเยือนยูเครนก่อนหน้าการเดินทางไปเยอรมนี ออสตินและบลิงเคนได้ให้สัญญากับยูเครนว่า จะเพิ่มความช่วยเหลือครั้งใหม่อีก 713 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่รัฐบาลยูเครนและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

 

นอกจากนี้ จะเพิ่มความช่วยเหลือทางการทหารแก่ยูเครนอีก 322 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงทั้งหมดที่สหรัฐฯ ได้ให้และสัญญาจะให้แก่ยูเครน เพิ่มขึ้นเป็น 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว นับตั้งแต่รัสเซียเปิดปฏิบัติการทางทหารเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ส่วนในการเยือนเยอรมนีครั้งนี้ ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพการประชุมด้านกลาโหมในวันนี้ (26 เมษายน) ตามเวลาท้องถิ่น วาระสำคัญ คือ หารือการติดอาวุธให้แก่ยูเครนอย่างไม่ขาดตอน เพื่อรับมือรัสเซีย คาดว่าจะมีกว่า 40 ประเทศเข้าร่วมการประชุมในวันนี้

 

ด้าน พลเอก มาร์ค มิลลี ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมกองทัพสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เป้าหมายสำคัญของการหารือที่เยอรมนี คือ การประสานความช่วยเหลือด้านความมั่นคงแก่ยูเครนของประเทศต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องประสานงานเพื่อให้มีควาสอดคล้องต้องกัน

 

โดยความช่วยเหลือดังกล่าว รวมถึงการให้อาวุธหนักแก่ยูเครน อาทิ ปืนใหญ่ฮาวอิทเซอร์ อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนติดอาวุธ และเครื่องกระสุน


พลเอก มิลลี ระบุด้วยว่า ช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ข้างหน้านี้ คือช่วงเวลาสำคัญมาก ยูเครนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการรับมือรัสเซีย และนั่นคือเป้าประสงค์ที่แท้จริงของการหารือครั้งนี้

 

สำหรับฐานทัพอากาศแรมชไตน์ สถานที่ประชุมหารือเรื่องยูเครนในเยอรมนีครั้งนี้ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองแฟรงค์เฟิร์ตในเยอรมนี

 

 

รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียเตือน ความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 อาจ “เป็นจริง”

เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ Russian First Channel ของรัฐบาลรัสเซีย และสำนักข่าว Interfax ของรัสเซีย รวมทั้งสื่อหลายสำนักในรัสเซียเมื่อวานนี้ (25 เมษายน) เตือนว่า เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ในตอนนี้ อันตรายที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 อาจ “เป็นความจริง” ได้


พร้อมเตือนด้วยว่า มีความเสี่ยงสูงมากที่ความขัดแย้งในยูเครน จะบานปลายและยกระดับขึ้นไปจนถึงขั้นการใช้อาวุธนิวเคลียร์ 
อย่างไรก็ตาม ลาฟรอฟยืนยันว่า จุดยืนของรัสเซีย คือ ต้องการหลีกเลี่ยงไม่ปล่อยให้เกิดความเสี่ยง อันจะทำให้ความขัดแย้งบานปลายไปได้ถึงขั้นนั้น แต่เขายอมรับว่า ขณะนี้ความเสี่ยงดังกล่าวกำลังเพิ่มมากขึ้น ดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น และไม่ควรประเมินอันตรายเหล่านี้ ต่ำเกินไป


ขณะที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ลาฟรอฟเพิ่งกล่าวว่า รัสเซียยึดมั่นในจุดยืนหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์ 


ลาฟรอฟกล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อไปว่า การที่ประเทศตะวันตกส่งอาวุธให้แก่ยูเครน หมายความว่า องค์การนาโตกำลังทำสงครามกับรัสเซียในสาระสำคัญ ผ่านการทำสงครามตัวแทนผ่านยูเครน


ทั้งนี้ ลาฟรอฟแสดงความเชื่อมั่นว่า ความขัดแย้งในยูเครนและทุกสิ่งทุกอย่าง จะจบลงด้วยการลงนามในข้อตกลงสันติภาพอย่างแน่นอน แต่เนื้อหาในข้อตกลงสันติภาพจะเป็นเช่นใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางทหาร ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สนธิสัญญาสันติภาพกำลังจะกลายเป็นความจริง จะเป็นตัวตัดสินเนื้อหาในข้อตกลงสันติภาพ


ขณะเดียวกัน ทางด้าน ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน กล่าวว่า คำพูดของลาฟรอฟดังกล่าว เพียงต้องการทำให้โลกกลัวที่จะช่วยสนับสนุนยูเครน

 

ข้อมูล : TNN World

ภาพ : Reuters

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง