รีเซต

ก้อนอิฐ 3,000 ปีเผยอดีตเมโสโปเตเมีย นักวิทย์พบการเกิดสนามแม่เหล็กโลกแปลกประหลาด

ก้อนอิฐ 3,000 ปีเผยอดีตเมโสโปเตเมีย นักวิทย์พบการเกิดสนามแม่เหล็กโลกแปลกประหลาด
TNN ช่อง16
28 ธันวาคม 2566 ( 13:31 )
26
ก้อนอิฐ 3,000 ปีเผยอดีตเมโสโปเตเมีย นักวิทย์พบการเกิดสนามแม่เหล็กโลกแปลกประหลาด

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) พบอิฐอายุ 3,000 ปีที่มีชื่อของกษัตริย์เมโสโปเตเมียสลักอยู่ และสิ่งที่ทำให้อิฐเหล่านี้พิเศษก็คือ มันให้ข้อมูลเกี่ยวกับสนามแม่เหล็กโลกในอดีต


ทั้งนี้โลกของเรามีสนามแม่เหล็กที่ผันผวน และมันก็อาจทิ้งร่องรอยความผันผวนไว้บนแร่บางชนิดที่ไวต่อสนามแม่เหล็ก ซึ่งอิฐเหล่านี้มีเศษแร่เหล็กอยู่เล็กน้อย และการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลกก็ส่งผลต่อเศษแร่เหล็กเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์สังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและระบุช่วงเวลาจากชื่อของกษัตร์ย์ที่ถูกสลักเอาไว้บนก้อนอิฐ


วิธีการศึกษานี้เรียกว่าการศึกษาสนามแม่เหล็กทางโบราณคดี (Archaeomagnetism) ซึ่งวิธีการก็คือใช้โบราณวัตถุเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับสนามแม่เหล็กของโลกในอดีต 


ในการศึกษานี้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาอิฐดินเหนียว 32 ก้อน ในประเทศอิรัก ซึ่งบริเวณศึกษานี้เมื่อหลายพันปีก่อนเคยเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมเมโสโปเตเมีย และนักวิทยาศาสตร์ก็เห็นร่องรอยของพลังสนามแม่เหล็กโลกเมื่อหลายพันปีก่อนในก้อนอิฐ โดยนักวิทยาศาสตร์นำชิ้นส่วนเล็ก ๆ จากส่วนที่แตกของอิฐมาวัดเม็ดเหล็กออกไซด์ และใช้เครื่องมือพิเศษที่เรียกว่าแมกนีโตมิเตอร์เพื่อวัดเม็ดอิฐเหล่านี้อย่างระมัดระวัง


ที่มารูปภาพ Eurekalert


ตัวอย่างจำนวนหนึ่งจากก้อนอิฐที่สลักชื่อของพระเจ้าเนบูคัดเนซซาร์ที่ 2 (Nebuchadnezzar II) ซึ่งมีอายุอยู่ราว 604 - 562 ปีก่อนศริสตศักราช นักวิทยาศาสตร์พบว่าสนามแม่เหล็กโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งข้อมูลนี้สามารถสนับสนุนแนวคิดที่ว่า สนามแม่เหล็กโลกสามารถเพิ่มความเข้มได้อย่างรวดเร็ว


อิฐแต่ละก้อนมีชื่อของกษัตริย์สลักอยู่ และนักโบราณก็ได้ประมาณการว่ากษัตริย์เหล่านี้ปกครองในช่วงไหน จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ได้สร้างแผนที่ซึ่งแสดงการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลกในระยะเวลาต่าง ๆ และได้พบว่าในช่วง 1,050 - 550 ปีก่อนคริสตกาล เกิดช่วงเวลาประหลาดที่เรียกว่า "ความผิดปกติของสนามแม่เหล็กโลกยุคเหล็กของลิแวนไทน์ (Levantine Iron Age geomagnetic Anomaly)" โดยสนามแม่เหล็กโลกมีกำลังแรงผิดปกติในช่วงเวลานี้ แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่แน่ใจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร


ศาสตราจารย์ มาร์ก อัลทาวีล หนึ่งในทีมวิจัยบอกว่า “โดยปกติเรามักจะหาอายุของวัตถุโบราณในยุคเมโสโปเตเมียผ่านเรดิโอคาร์บอน แต่ซากทางวัฒนธรรมบางส่วน เช่น อิฐและเซรามิก ไม่สามารถระบุอายุได้ง่าย เพราะไม่มีวัสดุอินทรีย์เป็นส่วนประกอบ ดังนั้นการศึกษานี้จึงช่วยสร้างพื้นฐานการหาอายุ ที่จะช่วยให้การศึกษาอื่น ๆ ในอนาคตสามารถหาอายุของวัตถุได้โดยใช้หลักการทางโบราณคดี” 


การค้นพบนี้ช่วยให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์ของสนามแม่เหล็กโลกมากขึ้น และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถระบุอายุของวัตถุโบราณได้ดีขึ้น


การศึกษานี้ตีพิมพ์ในรายงานการประชุมของ National Academy of Sciences (PNAS) เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2023


ที่มาข้อมูล InterestingEngineering, Eurekalert

ที่มารูปภาพ Eurekalert


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง