รีเซต

'สมเด็จพระมหาวีรวงศ์' มอบต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์ผัก จ.สระบุรี-จ.ลพบุรี สร้างความมั่นคงทางอาหาร

'สมเด็จพระมหาวีรวงศ์' มอบต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์ผัก จ.สระบุรี-จ.ลพบุรี สร้างความมั่นคงทางอาหาร
มติชน
1 กรกฎาคม 2563 ( 21:27 )
87

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ลงพื้นที่ร่วมตรวจเยี่ยมศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบฯ (โรงทาน) ตามพระดำริสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และเยี่ยมชมโครงการ “สวนครัวนำสุขพอเพียงเพื่อเพียงพอ ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” พร้อม พระราชธิราภรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัดสระบุรี เจ้าอาวาสพระพุทธฉาย นายเทวัญ ลิปตพัลลพ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) ได้รับมอบหมายจากนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีพช. นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และนางวิภาศิริ มกรสาร นายกสมาคมสตรีไทยดีเด่น ร่วมงาน ณ วัดพระพุทธฉาย ต.หนองปลาไหล อ.เมืองสระบุรี จ.สระบุรี

เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กล่าวสัมโมทนียกถาแก่ผู้ร่วมงานว่า จ.สระบุรี เป็นจังหวัดที่เข้มแข็งจังหวัดหนึ่งที่ดำเนินงานตามพระราชดำริของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ขอชื่นชมในความสำเร็จหรือในการปฏิบัติงานอีกครั้งหนึ่งที่ได้ร่วมด้วยช่วยกัน ในภาวะเช่นนี้คณะสงฆ์ก็ต้องมาลงมาช่วยกันบำบัดทุกข์บำรุงสุข เพื่อให้พี่น้องประชาชนของเราได้อยู่รอดปลอดภัยและได้อยู่กันอย่างมีสวัสดิภาพ ไม่ลำบากยากไร้ ทำงานกันด้วยความเสียสละ ด้วยความตั้งใจ ด้วยความมีใจเมตตากรุณาต่อกัน

ทั้งนี้ ถือว่าเราประพฤติอย่างนี้ตามธรรมะคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเห็นประชาชนอยู่กันด้วยความลำบาก คณะสงฆ์จึงลงมาช่วยกันตามความสามารถเท่าที่ทำได้ ทำด้วยจิตใจบริสุทธิ์ ทำด้วยเมตตากรุณา มีจิตใจที่ปราศจากสิ่งอันเป็นกิเลส การที่เราทำได้อย่างนี้ ประการที่หนึ่ง คือ เราสบายใจ ประการที่สอง คือ เป็นการช่วยประเทศชาติบ้านเมืองของเรา เรามาช่วยกันสานต่อตามคติของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพที่ว่า บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับประชาชนของเรา ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุขที่พอเพียงตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ท่านมีพระราชดำริ มีพระราชกระแสในเรื่องของความพอเพียงไว้ในยุคนี้ ซึ่งในหลายๆ พื้นที่ได้สนองพระราชดำริของสมเด็จพระสังฆราชฯ อย่างแข็งขัน วัดพระพุทธฉายนี้ก็มีข่าวปรากฏไปทั่วโลก โดยเฉพาะทางสื่อมวลชนของญี่ปุ่นก็มาถ่ายรูป รายงานว่า ประเทศไทยของเราทำอย่างนี้ในการช่วยเหลือประชาชน ถือว่าเป็นหน้าเป็นตาของประเทศไทย ว่าเราทั้งหลายมีความสามัคคีปรองดองกัน ถึงคราวตกทุกข์ได้ยากก็ช่วยกันโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

จากนั้น เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้ประกอบพิธีเบิกเนตรพระพุทธรูป 4 ปาง ประจำซุ้มมณฑปพระพุทธบาท (พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา) หล่อเทียนพรรษา เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ประจำปี 2563 หลังจากนั้น คณะสงฆ์ ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนได้เดินเยี่ยมชมโครงการ “สวนครัวนำสุขพอเพียงเพื่อเพียงพอ ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึก พร้อมทั้งปล่อยปลา และปลูกข้าว (โยนข้าว) ณ บริเวณวัดพระพุทธฉาย

ต่อมา เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการ ในสมเด็จพระสังฆราช กรรมการมหาเถรสมาคม ได้เดินทางต่อไปยัง ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชา โรงเรียนวินิตศึกษา ในพระราชูปถัมภ์ฯ (แห่งที่ 2) อ.เมือง จ.ลพบุรี เป็นประธานสงฆ์พิธีมอบต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว วัดสู่ชุมชน ภายใต้โครงการ “สวนครัวนำสุขพอเพียงเพื่อเพียงพอตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ตามพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆริณายก เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้กับคณะสงฆ์จังหวัดลพบุรี จำนวน 30,000 ต้น และเยี่ยมชมแปลงผักสวนครัว วัดสู่ชุมชน โดยมี พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี พร้อมพระเถรานุเถระ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรี นายสุปกิต โพธิ์ปภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมให้การต้อนรับ

สำหรับ โครงการ “สวนครัวนำสุขพอเพียงเพื่อเพียงพอ ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เกิดขึ้นตามพระดําริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งวัดได้มีการบูรณาการระหว่างโรงทาน ตามพระดําริของสมเด็จพระสังฆราช กับศาสตร์พระราชา “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นการต่อยอดสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เสนอแนวคิดการทํา “สวนครัวนําสุขพอเพียงเพื่อเพียงพอ ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งมอบต้นกล้า และเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวให้กับเจ้าคณะอำเภอทุกอำเภอ เจ้าคณะตำบล

นอกจากนั้น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณฯ สมเด็จพระสังฆราช ยังทรงอนุญาตให้วัดทั่วประเทศที่มีพื้นที่ว่างให้ประชาชนปลูกผักสวนครัวแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนช่วงวิกฤติโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร รวมทั้งส่งเสริมให้วัดต่างๆ ที่มีพื้นที่ เชิญชวนให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการว่างงาน โดยดําเนินการตามวิถีพุทธวิถีเกษตรปลูกผักสวนครัวในพื้นที่วัดนั้นๆ และนําไปปรุงเป็นอาหารส่วนที่เหลือจากการปรุงอาหารในครัวเรือนแล้ว สามารถนําไปจําหน่ายคืนให้วัด เพื่อนําไปประกอบอาหาร ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและเดือดร้อน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน และ ดร. วันดี ได้นำเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวถวายสมเด็จพระสังฆราช เพื่อประทานแก่วัดทั่วประเทศอีกด้วย

ขณะที่ กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ในการดำเนินงาน “น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ระยะที่ 2 สร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือน วันที่ 1 ก.ค. – 5 ธ.ค. 2563 เพื่อเป้าหมาย 5 ประการสำคัญคือ 1.ความต่อเนื่องคือพลัง ส่งเสริมการปลูกพืชผักที่ปลูกอยู่แล้วให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และปลูกพืชผักเพิ่มเติมจากเดิม รวม 10 ชนิด

2.ทำเป็นบ้านสานเป็นกลุ่ม ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มปลูกพืชผักประจำครัวเรือน เช่น มะนาว กล้วย มะละกอ เป็นต้น เพื่อบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกินให้มีมูลค่าเพิ่ม 3.ชุมชนสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างจิตวิญญาณรักสิ่งแวดล้อม และสร้างชุมชนสีเขียว 4.จากวัฒนธรรม สู่นวัตกรรม ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหาร และของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันจากพืชผักอาหาร และ 5.ชุมชนเกื้อกูลเพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง