รีเซต

เปิดประวัติ พระเทพวชิรธีราภรณ์ “เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย” จังหวัดสระบุรี

เปิดประวัติ พระเทพวชิรธีราภรณ์   “เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย” จังหวัดสระบุรี
TNN ช่อง16
10 กรกฎาคม 2568 ( 09:28 )
14

เปิดประวัติ พระเทพวชิรธีราภรณ์ (ประดิษฐ์ ฐิตเมโธ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี

พระเทพวชิรธีราภรณ์ (ประดิษฐ์ ฐิตเมโธ ป.ธ.9) หรือ ที่รู้จักกันในนาม  เจ้าอาวาสวัดพระพุทธฉาย เป็นพระราชาคณะผู้มีบทบาทบริหารกิจการคณะสงฆ์ เป็นที่เคารพนับถือ และ เป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่คณะสงฆ์จังหวัดสระบุรีและภาคกลาง

วุฒิการศึกษา

- นักธรรมชั้นเอก

- เปรียญธรรม 9 ประโยค (จบสูงสุดทางบาลีของคณะสงฆ์)

ตำแหน่งในฝ่ายปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ. 2536 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดพระพุทธฉาย จังหวัดสระบุรี

พ.ศ. 2554 ได้รับแต่งตั้งเป็น รองเจ้าคณะจังหวัดสระบุรี

พ.ศ. 2560 ปฏิบัติหน้าที่ รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดเขาขี้เหล็ก

พ.ศ. 2564 ได้รับแต่งตั้งเป็น รองเจ้าคณะภาค 2 กำกับดูแลคณะสงฆ์หลายจังหวัดในภาคกลาง

สมณศักดิ์

- พ.ศ. 2530 ได้รับวิทยฐานะ เปรียญธรรม 9 ประโยค

- วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระสุธีวราภรณ์ พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ

- วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชธีราภรณ์ พระราชาคณะชั้นราช
พร้อมราชทินนามว่า: ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

- วันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระเทพวชิรธีราภรณ์ พระราชาคณะชั้นเทพ
พร้อมราชทินนามว่า: สุนทรศาสนดิลก ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

ทำความรู้จัก “วัดพระพุทธฉาย”  จังหวัดสระบุรี

วัดพระพุทธฉาย ตั้งอยู่เชิงเขาพุทธฉาย ตำบลหนองปลาไหล อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานกว่า 400 ปี

ภายในวัดประดิษฐาน "พระพุทธฉาย" หรือเงาพระพุทธเจ้า ปรากฏเป็นรอยเงาสีแดงเลือนรางบนชะง่อนผา เชื่อกันว่าถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในช่วงนั้นทรงมีพระราชดำริให้ค้นหารอยพระพุทธบาทในดินแดนต่าง ๆ จนมาพบพระพุทธฉาย จึงโปรดให้สร้างมณฑปครอบไว้

ใกล้กันมีมณฑปอีกหลัง ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวา มณฑปหลังนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าเสือ เพื่อเป็นสถานที่สักการะของประชาชน

ภายหลังมีการสร้างบันไดขึ้นจากเชิงเขาไปยังบริเวณมณฑป เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้มานมัสการพระพุทธฉาย รอยพระพุทธบาท และพระพุทธรูปปางต่าง ๆ บนเขา

อีกหนึ่งจุดสำคัญคือ "ลานพระโมคคัลลานะ" ซึ่งเป็นลานโล่งริมหน้าผา ประดิษฐานพระโมคคัลลานะอยู่กลางลาน เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์เบื้องล่างได้อย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ ภายในบริเวณวัดยังพบภาพเขียนลายเส้นก่อนประวัติศาสตร์ บนแผ่นหินใกล้ทางเข้าพระพุทธฉาย เช่น ภาพสัตว์ ภาพมือคน และภาพสัญลักษณ์ต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง