รีเซต

บอลลูนท่องอวกาศ Spaceship Neptune คืบหน้า เผยโฉมโครงสร้างของจริง

บอลลูนท่องอวกาศ Spaceship Neptune คืบหน้า เผยโฉมโครงสร้างของจริง
TNN ช่อง16
19 ธันวาคม 2566 ( 10:26 )
56

สเปซ เพอร์สเปกทีพ (Space Perspective) บริษัทท่องเที่ยวอวกาศสัญชาติอเมริกัน เผยโฉมความคืบหน้าการก่อสร้างห้องโดยสาร ของบริการบอลลูนท่องอวกาศ สเปซชิป เนปจูน (Neptune) ที่ล่าสุดประกอบโครงสร้างภายนอกแล้วเสร็จ เข้าใกล้เป้าหมายการให้บริการเชิงพาณิชย์ไปอีกขั้น


ภาพจาก Space Perspective

 

บริษัทได้เผยความคืบหน้านี้ ด้วยการปล่อยวิดีโอเผยโฉมแรกของโครงสร้างห้องโดยสารจริง บนช่องยูทูปของบริษัท เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา เผยให้เห็นรูปร่างจริงของห้องโดยสารทรงกลม ซึ่งบริษัทระบุว่าขณะนี้โครงสร้างแคปซูลของสเปซชิป เนปจูนเสร็จสมบูรณ์แล้ว และจะนำไปใช้ในเที่ยวบินทดสอบแบบไร้ลูกเรือในครั้งถัดไป ที่เรียกว่า ไฟลท์ทู (Flight 2)

ภาพจาก Space Perspective

 

ทั้งนี้เมื่อปี 2021 บริษัทเคยประสบความสำเร็จในการจัดเที่ยวบินทดสอบ ไฟลท์วัน (Flight 1) ที่ส่งแคปซูลโดยสารจำลองออกไปแตะขอบชั้นบรรยากาศที่ความสูง 100,000 ฟุต หรือราว 30 กิโลเมตร จึงนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาแคปซูลที่มีแรงดันตัวล่าสุดนี้ ซึ่งจะนำไปใช้ในเที่ยวบินทดสอบ ไฟลท์ทู (Flight 2) เพื่อเก็บข้อมูลต่อสำหรับการสร้างแคปซูลเกรดเชิงพาณิชย์ ปูทางสำหรับเที่ยวบินทดสอบที่มีลูกเรือในปลายปีหน้า

ภาพจาก Space Perspective

 

สำหรับแคปซูลท่องอวกาศสเปซชิป เนปจูน ขึ้นชื่อในเรื่องการออกแบบเพื่อความยั่งยืนและความเป็นมิตรต่อโลก โดยข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัทระบุว่าแคปซูลลำนี้จะใช้เทคโนโลยีการลอยตัวสูงขึ้นจากพื้นโลกด้วยบอลลูนอวกาศ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยก๊าซไฮโดรเจนหมุนเวียน ปราศจากการใช้จรวดและระบบขับเคลื่อนอื่น ๆ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ภาพจาก Space Perspective

 

โดยแคปซูลจะลอยตัวขึ้นสูงด้วยบอลลูนอวกาศอย่างช้า ๆ ด้วยความเร็ว20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขึ้นไปที่ระดับความสูงประมาณ 32 กิโลเมตร ซึ่งถึงแม้จะยังไม่ถูกจัดเป็นบริเวณเหนือเส้นแบ่งพรมแดนอวกาศที่ระดับความสูง 100 กิโลเมตร หรือเส้นคาร์แมน (Karman Line) แต่ด้วยระดับความสูงดังกล่าวเพียงพอที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมองเห็นความสวยงามของโลกและอวกาศได้


ส่วนกำหนดการเดินทางและค่าบริการ บริษัทได้เผยข้อมูลไว้บนหน้าเว็บไซต์ของบริษัทโดยคาดว่าเที่ยวบินแรก จะสามารถเปิดให้เดินทางได้ภายในปลายปี 2024 โดยสนนราคาตั๋วเที่ยวบินต่อ 1 คนอยู่ที่ 125,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4,300,000 บาท


ข้อมูลจาก facebook, tnnthailand, spaceperspective

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง