กินเจ 2566 เลือกกินอย่างไร? ให้ดีต่อสุขภาพ ได้รับสารอาหารครบถ้วน
กินเจ 2566 กินอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ อาหารประเภทไหนให้โปรตีน แนะผลไม้และผักก่อนกินควรล้างให้สะอาด ป้องกันสารพิษตกค้าง
กินเจ คือการงดรับประทานอาหารที่ทำมาจากเนื้อสัตว์, ไข่, นม หรือผักที่มีกลิ่นฉุนต่างๆ ในทุกๆ ปีจะมีเทศกาลถือศีลกินเจ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณของชาวไทยเชื้อสายจีน โดยมีความเชื่อว่าเป็นการรักษาสุขภาพที่ดี พร้อมทั้งชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาหารเจในยุคปัจจุบัน มีการผลิตวัตถุดิบอาหารแปรรูปที่เลียนแบบรสชาติ กลิ่นของเนื้อสัตว์ ที่มีส่วนผสมของสารกันบูด และสารเคมีอื่นๆ ได้ อีกทั้งการไม่รับประทานเนื้อสัตว์, ไข่, นม อาจทำให้ร่างกายขาดโปรตีนได้
โดย เทศกาลกินเจ ประเพณีถือศีลกินผัก ปีนี้ 2566 ตรงกับวันที่ 15-23 ตุลาคม รวมเป็นเวลา 9 วัน กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี
การกินเจที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ
-เลือกรับประทานผัก ผลไม้สดที่หลากหลายสีสัน และก่อนรับประทาน หรือนำไปทำอาหาร ควรล้างทำความสะอาดให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันสารพิษตกค้าง
-รับประทานอาหารประเภทโปรตีนจากวัตถุดิบอาหาร เช่น นมถั่วเหลือง, ถั่ว, งา, เต้าหู้ และโปรตีนเกษตร
-เลือกรับประทานธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง, ขนมปังโฮลวีท
-ดื่มชา และกาแฟอย่างพอดี และไม่ควรเพิ่มความหวานลงไป
-รับประทานอาหารประเภทแป้ง, ไขมัน, ของทอด, อาหารรสชาติหวาน และเค็มอย่างพอดี ควรเลือกรับประทานอาหารประเภทต้ม, นึ่ง, ตุ๋น, ยำ, ลวก เพื่อลดปริมาณไขมัน และน้ำตาลในร่างกาย
-หลีกเลี่ยงอาหารประเภทหมักดอง เพราะในอาหารเหล่านี้จะมีโซเดียมสูง ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหากรับประทานในปริมาณมาก
-หลีกเลี่ยงอาหารจัด เพราะจะส่งผลกระทบต่ออวัยวะในระบบย่อยอาหารได้ เช่น รับประทานอาหารรสเผ็ดจัด จะทำให้กระเพาะได้รับการระคายเคือง ส่งผลให้มีอาการปวดท้อง
-เลือกรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานน้อย เช่น แตงโม, ชมพู่ และฝรั่ง ควรลดผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง เช่น ทุเรียน, มะม่วงสุก, เงาะ และน้อยหน่า เป็นต้น
-ดื่มน้ำให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย
ประโยชน์ของการกินเจ
-ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น
การกินเจจากอาหารประเภทผัก และผลไม้ จะอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ รวมทั้งกากใยอาหารต่างๆ ที่ช่วยให้อวัยวะที่ทำการย่อยอาหาร และการขับถ่ายทำงานได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ท้องผูก, โรคริดสีดวงทวารหนัก และโรคมะเร็งลำไส้ เป็นต้น
-ลดการได้รับสารปนเปื้อนจากเนื้อสัตว์
เช่น สารบอแรกซ์ มักจะอยู่ในลูกชิ้นปลา, เนื้อวัว, เนื้อหมู ซึ่งเป็นสารก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ฟอร์มาลิน มักจะอยู่ในเนื้อสัตว์ทะเล เช่น หอย, กุ้ง, หมึก และปู ซึ่งสารนี้จะเป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร
-ผิวพรรณเปล่งปลั่ง หน้าตาสดใสขึ้น
การรับประทานผัก ผลไม้ ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน แร่ธาตุต่างๆ มีส่วนช่วยในการดูแลผิวพรรณให้สดใส ลดการหย่อนคล้อยของผิวหนัง
ผู้สูงอายุ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
เพราะด้วยร่างกายที่เสื่อมถอยตามวัย ทำให้เมื่อกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้ผู้สูงอายุเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น ท้องอืด ท้องผูก เบาหวาน ยิ่งในช่วงเทศกาลกินเจ ผู้สูงอายุ นิยมทานอาหารเจเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ มักชื่นชอบการทำบุญถือศีลอยู่แล้ว แต่น่าเสียดาย ที่การกินเจมักส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ เช่น
-ท้องผูก ท้องอืด ในกลุ่มผู้สูงอายมักมีปัญหาอาหารไม่ย่อยอยู่แล้ว พอมากินอาหารเจ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีกากใยสูง เมื่อร่างกายได้รับกากใยมากจนเกินไป จะทำให้ผู้สูงอายุท้องอืด และท้องผูกในที่สุด
-ไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน เนื่องจากอาหารเจส่วนใหญ่ มักเป็นของผัดและทอด ซึ่งมีไขมันสูงเกินความจำเป็นต่อร่างกาย ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โรคต่าง ๆ ก็จะตามมา
-โรคไต โรคเบาหวาน เพราะอาหารเจส่วนใหญ่ มักมีรสเค็มหรือหวาน หากผู้สูงอายุรับทานเข้าไปในปริมาณมาก ๆ และหลายวันติดต่อกัน จะส่งผลเสียกับร่างกายได้
-ความดันโลหิตสูง เนื่องจาดอาหารเจมีความเค็ม หวาน มัน เป็นส่วนใหญ่ จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงได้
-ทุพโภชนาการ มาจากการละเว้นเนื้อสัตว์ และทานอาหารประเภทเดิมซ้ำ ๆ ติดต่อกัน ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบ 5 หมู่ จนขาดสารอาหารได้
ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลเพชรเวช / โรงพยาบาลเปาโล
ภาพจาก TNN Online