รีเซต

รวม 'พายุเตี้ยนหมู่' พายุเข้าไทยถล่มหลายพื้นที่ ชัยภูมิ หนักสุดรอบ 10 ปี

รวม  'พายุเตี้ยนหมู่' พายุเข้าไทยถล่มหลายพื้นที่ ชัยภูมิ หนักสุดรอบ 10 ปี
TeaC
25 กันยายน 2564 ( 14:34 )
999

ข่าววันนี้ 25 กันยายน 2564 สถานการณ์พายุเตี้ยนหมู่ พายุเข้าไทยถล่มหลายพื้นที่ โดยว่าที่ร้อยตรี อิทธิพล บุบผะศิริ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก พร้อมด้วย ร้อยเอกสมจิตร ฉ่ำมา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก เขตอำเภอวังทอง และจ่าเอกนิคม ม่วงสวน เจ้าพนักงานป้องกันชำนาญงาน ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักปลัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบหมายจาก นายมนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ให้นำกระสอบทราบจำนวน 6,000 ใบ พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ ไปสนับสนุนให้ความช่วยเหลือกรอกกระสอบทรายเพื่อทำแนวป้องกันน้ำล้นตลิ่งในเขตเทศบาลตำบลวังทอง อำเภอวังทอง ร่วมกับ นายบุญเหลือ บารมี นายอำเภอวังทอง ร้อยตำรวจตรีสุชาติ กลิ่นสังข์ นายกเทศมนตรีตำบลวังทอง ทหารจากกองพลพัฒนาที่ 3 และประชาชนในพื้นที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันทำแนวป้องกันน้ำล้นตลิ่งบริเวณริมตลิ่งของแม่น้ำวังทอง หลังได้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่นเตี้ยนหมู่ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำวังทองได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและคาดว่าหากฝนยังตกเพิ่มอีกจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำวังทองไหลเอ่อล้นเข้าท่วมตลาด 120 ปี อำเภอวังทอง ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญของอำเภอวังทองอย่างแน่นอน รวมถึงบ้านเรือนประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณสองฝั่งของริมแม่น้ำวังทองจำนวนมากอีกด้วย

 

 

 

 

พร้อมกันนี้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกยังได้สนับสนุนเรือท้องแบนเครื่องยนต์จำนวน 5 ลำ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลชัยนามและ ตำบลดินทอง อำเภอวังทองอีกด้วย จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่บริเวณริมแม่น้ำวังทองและพื้นที่ลุ่มต่ำให้รีบเก็บสิ่งของและทรัพย์สินมีค่าขึ้นไว้ในพื้นที่สูงเพื่อป้องกันทรัพย์สินถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายและเฝ้าติดตามข่าวสถานการณ์น้ำท่วมเป็นระยะ ๆ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ต่อไป

 

 

พิษพายุเตี้ยนหมู่ เขื่อนโคราชเกินความจุ 8 แห่ง เตือนชาวบ้านขนของหนีน้ำ

 

นายกฤษฎิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนักงาน ปภ.จังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากน้ำท่วมในหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ ต.สระจระเข้  อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ภายหลังจากได้เกิดน้ำที่ไหลจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน กัดเซาะถนนและคันดินขาด จนทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร จำนวน 211 หลังคาเรือน ใน 5 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1,2,3,7,12 ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง ซึ่งขณะนี้ได้ประสานสำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ให้นำกระสอบทรายบิ๊กแบ็คมาปิดกั้นถนนและคันดินที่ถูกน้ำกักเซาะขาด ไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน โดยจะดำเนินการให้เสร็จภายในวันนี้

 

ขณะเดียวกันนายกรกต ถำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ปฏิบัติราชการแทน นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ได้ทำหนังสือถึงหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ 7 อำเภอ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎร ภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” ซึ่งส่งผลให้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้ำเกินความจุเต็มอ่างแล้ว 8 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน อ.ด่านขุนทด, อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย, อ่างเก็บน้ำหนองกก อ.พระทองคำ, อ่างเก็บน้ำลำฉมวก อ.ห้วยแถลง, อ่างเก็บน้ำบ้านสันกำแพง อ่างเก็บน้ำบะอีแตน อ่างเก็บน้ำลำเชียงสา อ.วังน้ำเขียว, อ่างเก็บน้ำห้วยเพลียก อ.ครบุรี และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่งมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นเกือบเต็มความจุ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย (80%) และอ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี (87%)

 

โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง ที่ขณะนี้ มีปริมาณน้ำกักเก็บเกินความจุ 100% แล้ว ประกอบไปด้วย อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน อ.ด่านขุนทด มีปริมาณน้ำ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 119 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 8.40 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีน้ำล้นสปิลเวย์ 78.66 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะไหลไปสมทบกับอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง อ.โนนไทย ที่ปัจจุบันมีความจุน้ำเกินระดับกักเก็บที่ 126.50% หรือ 35.040 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงต้องเร่งระบายน้ำออกจากอ่างวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ลงสู่ลำน้ำสาขา ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำลำเชียงไกรเพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ 6 อำเภอ ประกอบไปด้วย อ.ด่านขุนทด อ.โนนไทย อ.พระทองคำ อ.โนนสูง และ อ.เมืองนครราชสีมา จึงแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมน้ำชำเชียงไกร เก็บทรัพย์สิน สิ่งของมีค่าต่างๆ ขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

 

นอกจากนี้ในส่วนของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขณะนี้มี 2 แห่งที่น่าเป็นห่วง คือ อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย ซึ่งมีปริมาณน้ำกักเก็บสูงถึง 124.191 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุกักเก็บ 155 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำออกวันละ 3.356 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บ 123 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 87.25 ของความจุกักเก็บ 141 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายน้ำออกวันละ 9.9 หมื่นลูกบาศก์เมตร จึงได้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมลำน้ำสาขาเขื่อนลำพระเพลิง และลำน้ำมูล ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.ปักธงชัย และ อ.โชคชัย ให้เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนอย่างใกล้ชิด ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำกักเก็บ 235.857 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุกักเก็บ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บ 217.740 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 78.63 ของความจุกักเก็บ 275 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

 

ปภ.รายงาน 12 จว.ยังน้ำท่วม กระทบปชช. 18,753 ครัวเรือนแล้ว เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย

 

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานในช่วงวันที่ 16 – 25 ก.ย. 64 เกิดอุทกภัยใน 26 จังหวัด รวม 84 อำเภอ 219 ตำบล 908 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,753 ครัวเรือนปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร ชัยภูมิ นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา สุโขทัย ชัยนาท นครสวรรค์ สิงห์บุรี ขอนแก่น ลำปาง ลำพูน และอุบลราชธานี ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เร่งระบายน้ำและให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว

 

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงาน จากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 64 – ปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 26 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กําแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ราชบุรี และนครศรีธรรมราช รวม 84 อำเภอ 219 ตำบล 908 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,753 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 12 จังหวัด ดังนี้

 

 

 

– พิจิตร ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบึงนาราง อำเภอโพธิ์ประทับช้าง อำเภอโพทะเล อำเภอสามง่าม และอำเภอดงเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร

 

– ชัยภูมิ เกิดฝนตกหนักทำให้ลำน้ำชีเอ่อเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอจัตุรัส อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอเนินสง่า และอำเภอบ้านเขว้า ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

 

– นครราชสีมา ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอด่านขุนทด อำเภอสูงเนิน อำเภอโนนสูง อำเภอเมืองนครราชสีมา และอำเภอพิมาย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร

 

– พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอได้แก่ อำเภอผักไห่ อำเภอเสนา และอำเภอบางบาล ปัจจุบันมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผงซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำ

 

– สุโขทัย เกิดฝนตกหนักทําให้น้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอศรีสำโรง อำเภอศรีสัชนาลัย และอำเภอคิรีมาศ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

 

– ชัยนาท เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ตำบลไร่พัฒนา อำเภอมโนรมย์ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

 

– นครสวรรค์ เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอลาดยาว อำเภอหนองบัว อำเภอชุมแสง อำเภอแม่วงก์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ และอำเภอชุมตาบง ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

 

– สิงห์บุรี เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่อำเภออินทร์บุรี รวม 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลอินทร์บุรี และตำบลชีน้ำร้าย ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

 

– ขอนแก่น เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโคกโพธิ์ไชย และอำเภอมัญจาคีรี ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

 

– ลําปาง เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเถิน อำเภอสบปราบ และอำเภอเกาะคา ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

 

– ลําพูน เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านโฮ่ง อำเภอแม่ทา อำเภอลี้ และอำเภอป่าซาง ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

 

– อุบลราชธานี เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ

 

ภาพรวมสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ระดับน้ำลดลงในหลายพื้นที่ แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่รับน้ำ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป

 

สำหรับประชาชนหากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วน

 

 

 

 

สุโขทัยอ่วม น้ำท่วมที่เศรษฐกิจ การเดินทางเป็นอัมพาต ก่อนนายกฯลงพื้นที่พรุ่งนี้

 

ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วม อ.เมืองสุโขทัย ว่าขยายเป็นวงกว้าง ล่าสุดเช้านี้ ระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นแผ่ขยายเข้าท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ทางเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกของ ต.บ้านกล้วยและ ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย เป็นวงกว้าง การเดินทางในหลายจุดหยุดชะงักเป็นอัมพาต

 

เส้นทางจากสะพานพระร่วงจนถึงวิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย ระดับน้ำสูง 20-50 เซนติเมตร โรงพยาบาลสุโขทัยต้องใช้แผ่นเหล็กทำทางเข้า และใช้เรือจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยรับส่งผู้ป่วยและผู้มาใช้บริการจากสี่แยกคลองโพ

 

ทำให้ชาวบ้านต่างได้รับความเดือดร้อนโดยเฉพาะ ที่ชุมชนคลองโพและชุมชนวัดคูหาสุวรรณน้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรกว่า 100 หลังคาเรือน บางจุดสูงถึง 1 เมตร 50 เซนติเมตร ต้องสัญจรด้วยเรือเท่านั้น ส่วนถนนสายบายพาสตั้งแต่สะพานโตโยต้าถึงสี่แยกคลองโพระดับน้ำสูงถึง 50 เซนติเมตร สถานีขนส่งเฉลิมพระเกียรติประชาชนไม่สามารถเข้าไปใช้บริการได้ ในขณะที่ทางจังหวัดยังคงแจ้งเตือนระดับน้ำจะสูงขึ้นต่อเนื่อง

 

 

 

 

ส่วนน้ำในแม่น้ำยมขณะนี้มีระดับสูงในระดับเดียวกับน้ำจากคลองแม่รำพันที่ท่วมขัง ทำให้ไม่สามารถผันน้ำลงแม่น้ำยมได้ ที่สถานีวัดน้ำ Y 4 มีระดับสูง 6.50 เมตร ซึ่งจังหวัดได้ผันน้ำจากประตูน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ออกไปทางฝั่งซ้ายออกไปทางอุตรดิตถ์และพิษณุโลก สำหรับน้ำจากแม่น้ำยมยังไม่ส่งผลกระทบแต่อย่างใด

 

โดยภาพรวมของจังหวัดสุโขทัยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ทั้ง 9 อำเภอ 56 ตำบล 288 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตร 169,297 ไร่ บ่อปลา 1,326 ไร่ ถนน 118 สาย สะพาน 6 แห่ง ท่อระบายน้ำ 7 แห่ง ตลิ่ง/คันกั้นน้ำ 6 แห่ง ฝาย 9 แห่ง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 26 กันยายนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเดินทางไปตรวจเยี่ยมแผนบริหารจัดการน้ำที่ จ.สุโขทัย มีกำหนดการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่โรงแรมสุโขทัย เฮอริเทจ รีสอร์ท ท่าอากาศยานสุโขทัย และ เดินทางไปยังวัดบ้านซ่าน ต.บ้านซ่าน อ.ศรีสำโรง สักการะหลวงพ่อสามพี่น้องและหลวงพ่อขาว

 

 

 

 

 

 

 

‘บิ๊กป้อม’ ห่วงน้ำท่วม สั่งทุกหน่วยงานช่วยเหลือประชาชน อย่างเร่งด่วนทุกพื้นที่

 

พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ ประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่รายภาคภาคตะวันออก เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในช่วงสถานการณ์น้ำท่วม ได้มอบคณะทำงาน ติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินการของจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมถึงพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ ในการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุต่อสถานการณ์อิทธิพลของพายุฤดูฝนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด รวมถึงติดตามความคืบหน้าการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุของทุกจังหวัด เพื่อเตรียมการล่วงหน้าในการป้องกันภัยน้ำท่วมที่อาจจะเกิดในห้วงฤดูฝน ติดตามความคืบหน้าการคัดสรรกรรมการลุ่มน้ำของลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

 


โดยพล.ร.อ.พิเชฐ ได้ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่4/64 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา พิจารณาการบริหารทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และการแก้ไขปัญหา สถานการณ์น้ำหลากที่เกิดขึ้นจากพายุฤดูฝนทั่วประเทศ โดยมี นายสำเริง แสงภู่วงค์ รอง เลขาฯ สทนช./รองประธานฯ และคณะอนุกรรมการ ร่วมประชุม ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กทม. โดยที่ประชุมได้ติดตาม เร่งรัดกำกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นสำคัญ ได้แก่การ ติดตามความก้าวหน้าการศึกษาวิจัยของสำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายของพื้นที่ EEC ด้านองค์กร และติดตามผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อบริหารจัดการน้ำในเขต EEC ติดตามผลการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุในการรับมือพายุฤดูฝนที่เกิดขึ้นในห้วงที่ผ่านมา ในพื้นที่ภาคตะวันออก และพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ และการเตรียมความพร้อมของบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ และการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุเพื่อป้องกันภัยน้ำท่วมตลอดฤดูฝน ของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ

 


 

 

 


พล.ร.อ.พิเชฐ กล่าวสรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 25 ก.ย. 64 ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่งแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 49,573 ล้าน ลบ.ม. (60%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 43,578 ล้าน ลบ.ม. (61%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก จำนวน 7 แห่ง (อ่างฯ แม่มอก ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน หนองปลาไหล แก่งกระจาน และนฤบดินทรจินดา) + ระดับน้ำในแม่น้ำมีแนวโน้มสูงขึ้น และเสี่ยงล้นตลิ่ง ได้แก่ แม่น้ำน่าน อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร แม่น้ำยม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย แม่น้ำเจ้าพระยา จ.สิงห์บุรี จ.ชัยนาท จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี ลำน้ำพอง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น แม่น้ำชี จ.ชัยภูมิ จ.ขอนแก่น แม่น้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์ แม่น้ำพระปรง อ.เมือง จ.สระแก้ว

 


 


กอนช. ติดตาม พายุดีเปรสชัน“เตี้ยนหมู่” ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ที่บริเวณ จ.ขอนแก่น ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าจากเเม่น้ำวัง เเม่น้ำปิง เเม่น้ำยม และเเม่น้ำน่าน ไหลลงสู่เเม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น

 


กรมชลประทาน จึงปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากอัตรา 1,951 ลบ.ม./วินาที เป็นอัตรา 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่นอกคั้นกันน้ำ บริเวณคลองบางบาล ชุมชนแม่น้ำน้อย ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา คลองโผงเผง จ.อ่างทอง วัดไชโย จ.อ่างทอง และ อ.พรหมบุรี อ.เมือง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ระดับน้ำจะสูงขึ้นจากปัจจุบันในช่วงเช้าของวันที่ 26 ก.ย. 64

 

กอนช. ขอให้หน่วยงานติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดพร้อมแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ล่าสุดจากอิทธิพลร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุม ตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 16 – 24 ก.ย. 64 เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 26 จังหวัด(เชียงราย เชียงใหม่ ลําพูน ลําปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กําแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ราชบุรีนครศรีธรรมราช ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จ. ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 12 จังหวัด

 

 

พายุเตี้ยนหมู่ ถล่มชัยภูมิ น้ำทะลักท่วมโซนเศรษฐกิจ เผยหนักสุดรอบ 10 ปี

 

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าอิทธิพลของพายุดีเปรสชัน "เตี้ยนหมู่" ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ เป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะในเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกตาดโตน ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของ อ.เมืองชัยภูมิ มีฝนตกหนักทั้งวันทั้งคืนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำป่าไหลหลากลงสู่ลำปะทาวจำนวนมาก จ่อลงเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ซึ่งเป็นโซนเศรษฐกิจ

 

ขณะที่ในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิได้มีฝนตกหนักตั้งแต่เวลา 22.00-07.00 น.ของวันนี้ ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ทำให้มีระดับน้ำขังในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิเป็นจำนวนมาก รวมถึงที่มวลน้ำจากห้วยยางบ่า ต.โคกสูง อ.เมืองชัยภูมิ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของ อ.เมืองชัยภูมิ มีปริมาณสูงเช่นกัน ทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลผ่าตัวเมืองเข้าสมทบทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง

 
 

เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองและตำรวจจราจร สภ.เมืองชัยภูมิ จึงเร่งทำป้ายสัญญาณบอกห้ามรถเล็กสัญจรผ่านในตัวเทศบาลเมืองชัยภูมิขณะนี้ ในขณะน้ำในแม่น้ำชีที่บริเวณบ้านค่าย อ.เมืองชัยภูมิ น้ำเอ่อล้นตลิ่งมากว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา น้ำจากแม่น้ำดันมาตามคลองสาขาเข้าตัวเมืองชัยภูมิ เทศบาลเมืองชัยภูมิ ไม่สามารถระบายน้ำออกได้ ทำให้ตัวเมืองชัยภูมิที่อยู่ตรงกลางของมวลน้ำ เกิดน้ำเอ่อล้นท่วมสูงถนนสายตัวเมืองชัยภูมิ

 

 

ถนนทุกสายในเมืองชัยภูมิต้องจมอยู่ใต้น้ำไม่ว่าจะเป็นรอบอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแลกลางชัยภูมิ ถนนด้านหน้าโรงพยาบาลชัยภูมิ รถเล็กไม่สามารถเข้าออก รับส่งผู้ป่วยได้ มีระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 50 เซนติเมตร วิ่งผ่านได้เฉพาะรถบรรทุกขนาดใหญ่เท่านั้น รวมถึงถนนสายอื่น ๆ ทั้งเมืองชัยภูมิ บริเวณหน้าตลาดสดเมืองชัยภูมิ ต้องจมใต้น้ำเช่นกัน ถนนเส้นทางผ่านศาลากลางจังหวัด สำนักงานที่ดิน ถนนศูนย์ราชการ และอีกหลายสาย ถูกน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างทั้งย่านเศรษฐกิจเมืองชัยภูมิ บรรดาชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้าขนย้ายสิ่งของหนีน้ำกลางดึกอลม่าน

 

 

นายธีวรา วิตนากร นายกเทศมนตรีเมืองชัยภูมิ สั่งเพิ่มเครื่องสูบน้ำระบายน้ำออกจากตัวเมือง ซึ่งฝนที่ตกหนังขณะนี้ถือได้ว่าหนักที่สุดในรอบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2564 เบื้องต้นได้เพิ่มเครื่องสูบน้ำเพื่อที่จะระบายน้ำให้เร็วที่สุด ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและความเสียหายของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ซึ่งถือว่าเป็นโซนเศรษฐกิจหลัก

 

 

แต่ดูเหมือนว่า หากฝนยังไม่หยุดตกหนักเช่นนี้ บวกกับในลำคลองขณะนี้มีน้ำจากแม่น้ำชีหนุนสูงจากทางทิศใต้ จึงทำให้ทุกทิศรอบเมืองชัยภูมิจะระบายน้ำออกสู่ลำคลองต่าง ๆ เป็นไปได้ยาก ทั้งน้ำป่าจำนวนมหาศาลจากลำปะทาว และจากแม่น้ำชีไหลเข้าตัวเมืองอย่างต่อเนื่อง มีฝนตกลงมาเป็นระยะ ๆ จึงทำให้การระบายน้ำออกจากตัวเมือง ไม่ค่อยได้ผลมากนัก หากยังมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ คาดว่าในเมืองชัยภูมิ จะเดือดร้อนไปอีกหลายวันจากสภาวะน้ำท่วมในครั้งนี้

 

 

เบื้องต้นจึงขอให้ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองได้มีการเตรียมรับมือและเฝ้าฟังข่าวสารสถานการณ์จากทางเทศบาลเมืองชัยภูมิและจังหวัดอย่างใกล้ชิดต่อไป

 

 

ข้อมูลจาก :  TNN ภูมิภาค, มติชน, ข่าวสด

ภาพ : มติชน, ข่าวสด, TNN

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง