วันนี้วันอะไร วันสงกรานต์ 2565 ตรงกับวันที่ 13 เมษายน
วันสงกรานต์ หรือ วันปีใหม่ไทย เป็นประเพณีการเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายน เป็นประเพณีดั้งเดิมที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยจะมีการสรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน
วันที่ 13 เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ หรือ วันเริ่มต้นปีใหม่ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์โคจรผ่านจากราศีมีนเข้าสู่ ราศีเมษนั้น โลกโคจรเป็นมุมฉากกับดวงอาทิตย์ จึงมีกลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันพอดี วันสงกรานต์เป็นวันทำบุญใหญ่ประจำปี มี 3 วันคือ วันมหาสงกรานต์หรือวันส่งท้ายปีเก่า ตรงกับวันที่ 13 เมษายน วันกลางหรือวันเนา ตรงกับวันที่ 14 เมษายน และวันขึ้นปีใหม่ หรือวันเถลิงศก ตรงกับวันที่ 15 เมษายน
ตำนานความเป็นมาวันสงกรานต์ มีที่มาที่ไปอย่างไร
จากหลักสันนิฐานว่า ตำนานเกี่ยวกับนางสงกรานต์นั้นได้มีปรากฏในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน โดยย่อว่า เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้น ๆ โดยนางสงกรานต์เกิดจาก ธรรมบาลกุมาร เป็นเทพบุตรที่พระอินทร์ประทานให้ลงไปเกิดในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อโตขึ้นก็ได้เรียนรู้ภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เพียง 7 ขวบ จึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่าง ๆ แก่คนทั้งหลาย จนวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสียเอง โดยธรรมบาลกุมารได้ขอตอบคำถามใน 7 วัน
เมื่อถึงเวลา ท้าวกบิลพรหม ก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ทำให้ท้าวกบิลพรหมแพ้ในการตอบคำถามครั้งนี้ ก่อนจะตัดเศียร ท้าวกบิลพรหมได้เรียกธิดาทั้ง 7 องค์ซึ่งเป็นนางฟ้า ให้เอาพานมารองรับ เนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นที่รวมแห่งความไม่ดีทั้งปวง ถ้าวางไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง
ธิดาทั้ง 7 มีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลเศียรของท้าวกบิลพรหม และในทุก ๆ ปีจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมแห่ไปรอบเขาพระสุเมรุเป็นเวลา 60 นาที จากนั้นนำไปประดิษฐานในถ้ำคันธุลี เขาไกรลาศ จึงเป็นที่มาของนางสงกรานต์ โดยแต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์นั่นเอง
นางสงกรานต์ทั้ง 7 วันมีชื่อดังนี้
- ทุงษเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์
- โคราดเทวี นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์
- รากษสเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร
- มัณฑาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพุธ
- กิริณีเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี
- กิมิทาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์
- มโหทรเทวี นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์
ประเพณีวันสงกรานต์มีอะไรบ้าง
ประเพณีสงกรานต์ดั้งเดิม จะมีพิธีสงกรานต์ที่ปฏิบัติกันในครอบครัว โดยจะมีการใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลักในพิธี เนื่องจากการคำนวณทางดาราศาสตร์ที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน จึงใช้น้ำมารดให้แก่กันเพื่อความสดชื่นในหน้าร้อนนั่นเอง โดยหลักจะมีพิธีสงกรานต์ คือ
- การสรงน้ำพระ ทั้งที่บ้าน และที่วัด เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงการทำบุญตักบาตรไหว้พระ
- การรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน
- การรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์
- การดำหัว เป็นพิธีสงกรานต์ทางภาคเหนือ คล้ายกับการรดน้ำผู้ใหญ่ในภาคกลาง เป็นการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือการขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่
- การขนทรายเข้าวัด มีความเชื่อว่า เพื่อความเป็นมงคล ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองมากมายเหมือนเม็ดทรายที่ขนเข้าวัด และอีกความเชื่อคือ การนำทรายที่ติดเท้าออกวัดเป็นบาป จึงขนทรายเข้าวัดเพื่อไม่ให้เป็นบาปนั่นเอง
ที่มาข้อมูล : อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวอทยาลัยวลัยลักษณ์
ที่มาภาพ : AFP