องค์กรแรงงานเมียนมา เรียกร้องไทยรับแรงงาน 60,000 คน ชี้แรงงานเดือดร้อนหนัก
สื่อใหญ่ของเมียนมา รายงานว่าเครือข่ายสิทธิแรงงานเมียนมา เรียกร้องให้รัฐบาลเจรจากับทางการไทยอนุญาตให้แรงงานชาวเมียนราว 60,000 คน เข้ามาทำงาน ชี้แรงงานเมียนมาเดือดร้อนหนัก เพราะติดอยู่ในประเทศหลังโควิดระบาดหนักในพม่า
เมียนมา ไทม์ส ได้รายงานว่า อู เส่ง เตย์ ผู้อำนวยการเครือข่ายสิทธิแรงงานเมียนมา (MWRN) หนึ่งในองค์กรแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา ที่มีสำนักงานทั้งในเมียนมา และไทยได้กล่าวหากรัฐบาลไม่สามารถโน้มน้าวรัฐบาลไทยอนุญาตให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาในราชอาณาจักรได้ ทางเมียนมาก็ควรคืนเงินค่าใช้จ่ายของแรงงานในการดำเนินการตามสัญญาการจ้างงงาน
"คนงานที่สมัครในหน่วยงานได้ทำสัญญากับนายจ้าง และกว่า 60,000 ราย ยังรอคอยการเดินทางเข้าทำงานในประเทศไทย" อู เส่ง เตย์ กล่าว และขณะนี้แรงงานเหล่านี้กำลังได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่ได้กู้ยืมเงินเพื่อมาจ่ายเป็นค่านายหน้า และค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งมีดอกเบี้ย แต่พวกเขาก็ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้เนื่องจากยังไม่มีงานทำ
ทั้งทางองค์กรเครือข่ายสิทธิแรงงานเมียนมา ยังระบุว่า หากรัฐบาลเมียนมาไม่สามารถโน้มน้าวให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้แรงงานเมียนมากว่า 60,000 คนกลุ่มนี้ เดินทางเข้าทำงานในไทยได้ ทางการเมียนมาก็ควรจะต้องหาเงินมาจ่ายคืนแก่แรงงานกลุ่มนี้ เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น
และยังกล่าวว่าในปัจจุบันแรงงานเมียนมาในประเทศไทยก็ยังไม่ได้รับเงินเดือน ทำให้พวกเขาไม่สามารถเปลี่ยนไปทำงานอื่นได้ ในขณะที่บางรายถูกฉ้อโกงโดยนายหน้าเรื่องวีซ่า และใบอนุญาตทำงาน "แทบไม่มีการพัฒนาเลย สิ่งหนึ่งที่โชคดีคือรัฐบาลไทยอนุญาตให้คนงานที่วีซ่าหมดอายุขยายระยะเวลาได้อีก 2 ปี" อู เส่ง เตย์ กล่าว
เมียนมา ไทม์ส ได้ระบุว่า ขณะนี้ เมียนมามีแรงงานของตนมากกว่า 4 ล้านคน ที่ออกไปทำงานในประเทศต่างๆ ทั่วโลก และในจำนวนนี้ มีมากกว่า 2 ล้านคน ที่ทำงานในประเทศไทย และยังมีชาวเมียนมาอีกหลายพันคน ที่กำลังพยายามเดินทางออกจากประเทศ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อหาโอกาสในการจ้างงานในต่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจในเมียนมายังคงอยู่ในสภาวะซบเซา
อย่างไรก็ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเมียนมากำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อรวมกว่า 1.16 แสนราย รักษาหายแล้ว 9.5 หมื่นราย และมีผู้เสียชีวิตกว่า 2.4 พันคน จากจำนวนประชากรกว่า 53 ล้านคน
ที่มา : mmtimes