กรุงเทพวิกฤต เตรียมใช้ชีวิตกลางแจ้งไม่ได้ หากร้อนเพิ่มแค่ “1 องศา” คร่าชีวิตได้นับพัน

บทความนี้โอ๋อาจจะขอพูดกับพวกเราชาวกรุงเทพโดยตรง โดยเฉพาะใครอยู่ปทุมวัน บางรัก และ ราชเทวี ต้องฟัง เพราะล่าสุดเพิ่งมีรายงานการศึกษาโดย ธนาคารโลก และ กรุงเทพมหานคร เผยแพร่ออกมาเรื่อง
“พลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เย็นสบาย แก้ปัญหาความร้อนเพื่อมหานครที่น่าอยู่” พบว่า
ปัจจุบันกรุงเทพเผชิญกับ ภาวะความร้อนในเมือง ที่รุนแรงมากขึ้น เป็น “เกาะความร้อน” ปรากฎการณ์ที่พื้นที่ในเมือง จะร้อนกว่า นอกเมือง โดยเฉพาะ 3 เขตโชคร้าย ร้อนที่สุดในกทม. คือ ปทุมวัน บางรัก ราชเทวี ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่โดยรอบ 2.8 องศา ยิ่งกลางคืนสูงกว่าถึง 6°C
เพราะเต็มไปด้วยอาคารสูง พื้นผิวคอนกรีตหนาแน่น สะสมความร้อนเวลากลางวัน ระบายช้า แน่นอนว่าส่งผลต่อคุณภาพชีวิตประชากร : ค่าไฟแพง เครียด นอนหลับไม่ดี และโรคเรื้อรังต่างๆตามมา
และในช่วง 40 ปี ที่ผ่านมา กรุงเทพมีวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศา 60 - 100 วัน หากปล่อยสถานการณ์ไว้แบบนี้ ในปี 2643 จะมีจำนวนวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35 องศา เกือบครึ่งปี! หรือ 153 วัน ซึ่งนับแต่ ปี 2000 อุณหภูมิในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้น 1 - 1.2 °C มานานแล้ว ทั้งที่ในอดีต กรุงเทพฯ เคยมีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 28–30°C เท่านั้น
📍 ทำไมกรุงเทพฯ กลายเป็น เกาะความร้อน ?
1. เต็มไปด้วยวัสดุดูดความร้อน
2. พื้นที่สีเขียวยังไม่เพียงพอ
'องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ประชาชน 1 คน ต้องการพื้นที่สีเขียว 9-15 ตารางเมตร
แต่ชาวกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพียง 7.49 ตร.ม. /คน และสัดส่วนพื้นที่ร่มไม้ในเมืองกรุงมีเพียง 17 %
3. ยิ่งร้อน ยิ่งเปิดแอร์ ก็ยิ่งปล่อยความร้อนสู่ภายนอก = โลกก็ยิ่งร้อนขึ้น
🌡หากไม่แก้ที่ต้นเหตุที่ทำให้โลกร้อน อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นแค่ 1 องศา
สามารถส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกได้มหาศาล เหมือนเช่น
เยอรมนี-เบลเยียม (ปี 2021)
• น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบหลายทศวรรษ จากฝนตกหนักเพราะ โลกร้อน ขึ้น
อินเดีย-ปากีสถาน (ปี 2022)
• มีผู้เสียชีวิตนับพันจากเหตุการณ์คลื่นความร้อนมรณะ พุ่งทะลุ 50 °C ในหลายเมือง เช่น เมืองจาโคบาบัด และ กรุงนิวเดลี
กรุงเทพฯ คาดการณ์ว่า
• มีผู้เสียชีวิตจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น 1 องศา ถึง 2,300 ราย/ปี สถิติพอๆกับอุบัติเหตุบนท้องถนน ปี 2565 คนกรุงเสียชีวิตถึง 2,524 คน เพราะผู้คนจะเจ็บป่วย ด้วยโรคจากความร้อนและแสงอาทิตย์มากขึ้น
• ต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น 17,000 ล้าน/ต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 400–450 บาท/ครัวเรือน /เดือน
• ปี 2593 ผู้คนอาจทำงานกลางแจ้งไม่ได้อีกต่อไป ข้อมูล ปี 2562 พบว่ามีแรงงาน 1.3 ล้านคน ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง อย่างน้อยๆ 1 วันต่อสัปดาห์ แต่ความร้อนที่รุนแรง เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้พวกเขาทำงานกลางแจ้งไม่ได้อีกต่อไป ส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานลดลง 3.4 % เสียค่าจ้างแรงงานสูงถึง 44,700 ล้านบาท/ปี กระทบต่อห่วงโซ่ธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมระดับประเทศ
3 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
• เด็กและผู้สูงอายุ ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
• อาชีพกลางแจ้ง : ก่อสร้าง กวาดถนน วินมอเตอร์ไซค์ พ่อค้าแม่ค้า Rider
• กลุ่มเปราะบางในชุมชนแออัด ไม่มีแอร์ ไม่มีทางหนีความร้อนไปได้
" หายนะที่อาจเกิดขึ้นแค่การณ์ แปลว่า เรายังมีโอกาส หยุดยั้ง หากทุกคนร่วมมือกัน "
🏙 สิ่งที่กรุงเทพฯ ทำไปแล้ว
ระยะแรก
• ปลูกต้นไม้ครบ 1 ล้านต้น และ “สร้างสวนขนาดเล็ก 15 นาที”
• โครงการ “Metro Forest” ป่ากลางเมืองกรุง พัฒนาโดยเอกชน
• ป้ายรถเมล์ Sabuy Square ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ - ช่วยให้ร่มเย็น
• ระบบ District Cooling พัฒนาโดยเอกชนในห้างใหญ่ คือการ ผลิตความเย็นที่เดียวและกระจายไปทางท่อ ลดการปล่อยก๊าซ CO2 และประหยัดพลังงานสูงถึง 50%
ระยะที่ 2
Hot Season Framework (ทำช่วงร้อนจัด)
ใช้เกณฑ์ “Heat Index” แบ่งระดับความร้อนเพื่อเตรียมเตือนภัยประชาชน รับมือกับคลื่นความร้อน แบ่งเป็น 4 ระดับ เฝ้าระวัง - เตือนภัย - วิกฤต - วิกฤตสุด ต้องอพยพ หากคลื่นความร้อนสูงเกินกว่า 67 องศา
🧭 แต่มันก็มีสิ่งที่รายงานแนะนำให้ทำ “แต่ยังเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ร่วมมือกัน”
• หาพื้นที่ “ร้อนจัด” เพื่อวางแผนจัดทรัพยากร เช่น ปลูกต้นไม้เพิ่ม ติดโครงสร้างให้ร่ม
• ตั้ง “Chief Heat Officer” คนและหน่วยงานดูแลเรื่องภัยจากคลื่นความร้อนโดยเฉพาะ
• ปรับกฎหมายบังคับให้ตึกใหม่ต้องมีพื้นที่สีเขียว-หลังคาสะท้อนแสง
• เปิด Cooling Centers หรือ “ศูนย์หลบร้อน” ให้ปชช.ในวัด โรงเรียน ห้องสมุด
• ทำระบบสื่อสารแจ้งเตือนภัย T - Alert ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มและมีประสิทธิภาพ
• ขยาย “โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว-น้ำ” ภาครัฐ - เอกชน เพิ่มต้นไม้ สวนสาธารณะ สวนดาดฟ้า น้ำดื่มสาธารณะให้บริการ
สุดท้ายอยากฝากไว้ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เห็นมีใครทำ ไม่ต้องรอ
เพราะอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น 1 องศา…อาจหมายถึง หนึ่งชีวิตที่หายไปและอาจเป็นคนใกล้ตัวคุณ
ถึงเวลาเลิกถามว่า “ใครจะทำ” ควรเป็น “เราจะช่วยกันทำยังไง?” ให้กรุงเทพมหานคร บ้านที่เรารัก กลับมาเย็นสบาย กลายเป็นมหานครที่น่าอยู่ต่อไปในอนาคต รุ่นลูก รุ่นหลานเรา