รีเซต

ทำไมเทคโนโลยีชิปจีนจะยังไม่ทันสหรัฐฯ ในเร็ว ๆ นี้

ทำไมเทคโนโลยีชิปจีนจะยังไม่ทันสหรัฐฯ ในเร็ว ๆ นี้
แบไต๋
27 มีนาคม 2566 ( 18:06 )
66
ทำไมเทคโนโลยีชิปจีนจะยังไม่ทันสหรัฐฯ ในเร็ว ๆ นี้

ที่ผ่านมาจีนพยายามอย่างมากที่จะไล่ตามเทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือ ‘ชิป’ ให้ทันสหรัฐอเมริกา และขึ้นมาครองความเป็นผู้นำของโลก

เจ้าชิปตัวนี้เองที่เป็นหัวใจหลักของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ตั้งแต่เทคโนโลยีที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างสมาร์ตโฟน ลามไปจนถึงการทหารอย่างระบบขีปนาวุธ

แต่มีเหตุผลหลายอย่างที่จะให้คำตอบว่าทำไมเทคโนโลยีชิปของจีนถึงยังไปไม่ถึงจุดนั้น และน่าจะยังไม่สามารถตามทันได้ในอีกหลายปีข้างหน้า

ห่วงโซ่อุปทานผลิตชิป

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าการผลิตชิปไม่ใช่ว่าแค่มีเงินทุน โรงงาน เทคโนโลยี และแรงงาน ก็สามารถผลิตใช้เองได้

ต้องมีวงจรการพัฒนาเทคโนโลยี ทรัพยากร และองค์ความรู้ที่เหมาะสม หรือที่เรียกว่าห่วงโซ่การผลิต ซึ่งยังเป็นสิ่งที่จีน หรือประเทศใดก็ตามไม่สามารถทำได้ตามลำพัง

ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ที่สามารถครองฐานะมหาอำนาจด้านชิปไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตัวเองเท่านั้น แต่เกิดจากความสามารถในการควบคุมระบบห่วงโซ่อุปทานการผลิตชิปผ่านเครือข่ายประเทศพันธมิตรนับสิบประเทศ ซึ่งมีผู้เล่นสำคัญคือ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

สหรัฐฯ ครองห่วงโซ่การผลิตผ่านพันธมิตร

ห่วงโซ่การผลิตชิปนั้นมีความซับซ้อนมาก มีหลายประเทศมาเกี่ยวข้อง แทบทั้งหมดเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ แต่จะขออธิบายส่วนสำคัญคร่าว ๆ ตั้งแต่การออกแบบซอฟต์แวร์ผลิตชิป ไปจนถึงการผลิตชิปออกมาเป็นรูปเป็นร่าง

ในขั้นตอนการพัฒนาซอฟต์แวร์ในการออกแบบกรรมวิธีผลิตชิป หรือที่เรียกว่า Electronic design automation (EDA) ซึ่งในสหรัฐฯ มีหลายบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ ผู้เล่นสำคัญคือ Cadence Design Systems และ Synopsys ของสหรัฐฯ

จากนั้นต้องมีเครื่องจักรที่ใช้ในการพิมพ์ระบบแผงวงจรให้เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งการจะผลิตชิปขั้นสูงที่ใช้ในการทหาร การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และการพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ จะต้องใช้เครื่องพิมพ์แผงวงจรลงบนชิปที่ใช้รังสีเอ็กซ์ตรีมอัลตราไวโอเลต (EUV lithography machine)

ที่ตั้งโรงงานและสำนักงานของ ASML จากเนเธอร์แลนด์

ผู้ที่ครองส่วนแบ่งผลิตเครื่องจักร EUV แทบจะหนึ่งเดียวคือบริษัท ASML จากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งดำเนินมาตรการไม่ส่งออกไปให้จีนตามสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2019

ผู้เล่นในตลาดรายอื่น ๆ ทั้ง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ของไต้หวัน Samsung ของเกาหลีใต้ หรือ Intel ของสหรัฐฯ เอง ต่างก็อยู่ในอิทธิพลของสหรัฐฯ ทั้งสิ้น

ส่วนการผลิตชิปที่ไม่ได้ซับซ้อนมากใช้รังสีที่เรียกว่าดีปอัลตราไวโอเลต (DUV) ซึ่ง ASML ก็เป็นเจ้าตลาดอีกเช่นกัน (รองลงมาคือ Nikon และ Canon ของญี่ปุ่น) ที่เนเธอร์แลนด์และประเทศอื่น ๆ ก็ยกระดับการจำกัดการส่งออกให้จีนตามสหรัฐฯ ไปเมื่อไม่นานมานี้

TSMC เจ้าตลาดชิปของโลก

ในขั้นการผลิตชิป TSMC จากไต้หวันครองแชมป์การนำส่วนประกอบทั้งหมดมาผลิตชิปขั้นสูง (3-5 นาโนเมตร) ในขั้นสุดท้าย ด้วยส่วนแบ่งตลาดมากถึงร้อยละ 90

ยิ่งไปกว่านั้น TSMC ยังเป็นเจ้าของโรงงานที่บริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกต้องมาพึ่งพาในการผลิตชิปมากกว่าครึ่งหนึ่งของโรงงานผลิตชิปที่มีอยู่ในโลก

บทบาทด้านชิปสะท้อนท่าทีการเมืองระหว่างประเทศ

มาตรการของสหรัฐฯ ที่ห้ามการส่งออกชิปและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องไปยังจีน ทำให้ประเทศเหล่านี้พร้อมใจทำตามคำขอของสหรัฐฯ

โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

เนื่องจากประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ต่างรู้ดีว่าจีนเป็นภัยต่อตัวเองทั้งในด้านการเมือง และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเด็นที่จีนเองก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่าอยู่ข้างใดในสงครามระหว่างยูเครน – รัสเซีย

อีกทั้ง ประเทศเหล่านี้ยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะการคุ้มครองพวกตนจากภัยของจีน

โดยไต้หวันถือเป็นผู้เล่นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากแรงกดดันของจีน จึงใช้โอกาสการเข้าไปลงทุนด้านชิปในยุโรป เป็นโอกาสในการกระชับความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปเพื่อคานอิทธิพลของจีน

เช่นเดียวกับเนเธอร์แลนด์ ที่เดินเกมตามสหรัฐฯ ทั้งในเรื่องมาตรการคว่ำบาตรด้านชิป ลามไปถึงเรื่องการแบน TikTok

จีนไล่ตาม…แต่ยังไม่ทัน

แม้จีนพยายามเร่งพัฒนาเทคโนโลยีชิปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ต้องเจอกับสิ่งที่ฉุดรั้งเอาไว้คือมาตรการของสหรัฐฯ ที่จำกัดการส่งออกชิปและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องไปยังจีน ให้ขายได้เฉพาะชิปที่ออกขายก่อนปี 2014 รวมทั้งยังห้ามองค์กร บริษัทห้างร้าน และพลเมืองจีนในการซื้อเทคโนโลยีชิปขั้นสูงด้วย

เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดเทคโนโลยีในการผลิตชิป ที่นอกจากจะพร้อมใจกันทำตามมาตรการของสหรัฐฯ แล้ว ยังเริ่มเล็งหาลู่ทางในการย้ายฐานการผลิตออกไปนอกจีนด้วย

อีกประการหนึ่งคือการที่จีนก็พึ่งพาเทคโนโลยีของบริษัทที่อยู่ในหลายขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานที่ส่วนมากก็อยู่ในเครือข่ายของสหรัฐฯ การปิดช่องทางเหล่านี้ ทำให้จีนประสบความยากลำบากในการนำเทคโนโลยีชิปให้ตามทันคู่อริ

ผลก็คือ บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของจีนอย่าง Semiconductor Manufacturing International Corp (SMIC) และ Yangtze Memory Technologies ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วง

สุดท้ายคือการที่ประเทศต่าง ๆ ในวงจรการผลิตชิปเริ่มเคลื่อนย้ายฐานการผลิตออกไปนอกจีน เพื่อเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการทางกฎหมายของจีนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงโควิด และยังเป็นการทำตามมาตรการของสหรัฐฯ ด้วย

นักวิเคราะห์ประเมินว่าเทคโนโลยีชิปของจีนในปัจจุบัน อาจตามหลังฝั่งของสหรัฐฯ มากถึง 20 ปีเลยที่เดียว และอาจเพิ่มขึ้น หากสหรัฐฯ และพันธมิตรยังคงใช้ไม้แข็งกับจีนต่อไป

ที่มา Bloomberg, Reuters (1), Reuters (2), Reuters (3), Reuters (4), Reuters (5), Reuters (6), THE WAVES, TrendForce, theconversation, mordorintelligence

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง