รีเซต

โจรปลอมเสียงเป็นลูกโทรมาขอเงินพ่อแม่! เมื่อเครื่องมือ AI สร้างเสียงปลอมที่นำไปสู่การ Vishing

โจรปลอมเสียงเป็นลูกโทรมาขอเงินพ่อแม่! เมื่อเครื่องมือ AI สร้างเสียงปลอมที่นำไปสู่การ Vishing
แบไต๋
7 สิงหาคม 2566 ( 19:28 )
107
โจรปลอมเสียงเป็นลูกโทรมาขอเงินพ่อแม่! เมื่อเครื่องมือ AI สร้างเสียงปลอมที่นำไปสู่การ Vishing

เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 มีรายงานข่าวจาก PPTV ถึงคู่รักที่ได้โอนเงินให้คนที่โทรมาอ้างว่าเป็นลูกชายคนเล็กของตนเอง มากถึง 20,000 บาท โดยภายหลังพบว่าถูกหลอก เพราะคนที่โทรมาไม่ใช่ลูกชายของตนเอง

แท้จริงแล้ว ทั้งคู่ได้ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการ Vishing จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ใช้เทคโนโลยีสุดล้ำอย่าง AI Voice มาทำการหลอก

แล้ว Vishing คืออะไร?

Vishing (Voice Phishing) คือกระบวนการหลอกเหยื่อโดยใช้เสียงเป็นเครื่องมือ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการพูดคุย หลอกให้เหยื่อตายใจ ก่อนที่จะบังคับให้เหยื่อโอนเงินให้ รวมถึงแอบเก็บข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญจากเหยื่อ

ที่ผ่านมา พบว่าคนร้ายมักจะปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจ โทรหาเหยื่อเพื่อเรียกเก็บเงิน ค่าบริการ ภาษี หรือยอดเงินค้างชำระต่าง ๆ โดยมักจะมีการนำกฎหมายที่มีความผิดร้ายแรงมาอ้าง เพื่อให้เหยื่อเกิดความกลัวจนยอมโอนเงินให้แต่โดยดี 

หน้าที่ของ AI Voice ในกระบวนการ Vishing 

AI  Voice คือปัญญาประดิษฐ์ที่ใช้เสียงเป็นเครื่องมือ ให้สามารถจดจำเสียงและแยกแยะความแตกต่างภายในโทนเสียง จนถึงสามารถสร้างเสียงขึ้นมาใหม่เป็นประโยคพูดยาว ๆ จากการลอกเลียนแบบเสียงต้นฉบับได้ 

การสร้างเสียง โดย AI Voice สามารถทำได้จากต้นฉบับคลิปเสียงที่มีระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 15-30 วินาที ไม่ว่าจะเป็นการนำคลิปเสียงจากโฆษณา หรือคลิปเสียงในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น YouTube TikTok หรือ Reels ใส่เข้าไปในโปรแกรม ก็จะสามารถนำมาสร้างเสียงต่อได้แล้ว

ตัวอย่าง เสียงต้นฉบับ vs. เสียงที่สร้าง โดย AI Voice ผ่านเว็บไซต์ LOVO

นอกจาก LOVO แล้ว Audio LM ยังเป็นหนึ่งใน AI Voice ที่มีความสามารถในการแยกแยะ และเลียนแบบเสียง จนมีนักวิจัยอย่าง โรเจอร์ แดนเนนเบิร์ก (Roger Dannenberg) และ รูพัล พาเทล (Rupal Patel) ออกมายอมรับถึงความเป็นธรรมชาติ จนถึงความแนบเนียนของเสียงที่แทบแยกไม่ออกจากต้นฉบับ

โดยความง่ายในการใช้งาน AI Voice เหล่านี้ ได้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือให้คนร้ายอย่างเช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ นำไปหลอกลวงเหยื่อ โดยทำการโจมตีแบบ Vishing เพื่อนำไปสู่การหลอกให้โอนเงินมูลค่าตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักหมื่นบาท

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้เบอร์แปลก ปลอมเป็นคนสนิท โทรมาขอยืมเงิน

ย้อนกลับมาที่เหตุการณ์ของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่คู่สามี-ภรรยา ได้เข้าแจ้งความ ณ สถานีตำรวจ พร้อมกับเหตุการณ์ที่ตนเองนั้นได้รับสายจากเบอร์แปลก อ้างว่าเป็นลูกชายคนเล็กของตน โทรมาบอกว่าตอนนี้ถูกจับในคดียาเสพติด ต้องการเงิน 20,000 บาท เพื่อแลกกับการปล่อยตัว 

โดยคู่สามี-ภรรยา ยืนยันว่าในขณะที่รับสายอยู่ เสียงปลายสายนั่นคือเสียงจริง ๆ ของลูกชายที่จำได้ ถึงแม้ว่าจะไม่เคยบันทึกเบอร์โทรศัพท์ของลูกชายไว้ แถมปลายสายก็ยังรู้ข้อมูลส่วนตัวของทั้งคู่อีกด้วย ทั้งคู่จึงโอนเงินให้ตามคำร้องขอ ก่อนที่เบอร์นั้นจะโทรมาอีกครั้ง แล้วบอกให้เติมเงินให้อีก 300 บาท

หลังจากตอบตกลงที่จะเติมเงินให้อีก 300 บาท และวางสายไป ทั้งคู่นั้นไม่แน่ใจว่าลูกชายใช้เครือข่ายใด จึงโทรกลับไปสอบถามลูกชายผ่านเบอร์เก่าที่จำได้ ก่อนจะพบว่าเจ้าตัวไม่ได้เป็นคนโทรมาตั้งแต่แรก ตอนนั้นเองที่ทั้งคู่รู้ตัวว่าถูกหลอก
 

เราจะป้องกันตัวได้อย่างไร? 

เนื่องจากการหลอกลวงในลักษณะ Vishing นั้นเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย หากมีเหตุการณ์ในลักษณะที่คนรู้จักใช้เบอร์แปลกโทรมา แล้วอ้างว่าเปลี่ยนเบอร์ ติดต่อมาเพื่อยืมเงิน หรือสอบถามข้อมูลส่วนตัว เราควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า บุคคลปลายสายนั้นใช่คนรู้จักของเราจริง ๆ หรือไม่  

การตรวจสอบปลายสายโดยสอบถามข้อมูลส่วนตัว เช่น ความชอบ วันเกิด คนสนิทอื่นที่รู้จักร่วมกัน รวมถึงเช็คกับคนที่รู้จักโดยติดต่อผ่านเบอร์เดิม หรือช่องทางอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Line หรือ Facebook อีกครั้ง เพื่อความมั่นใจ

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MEDS) ได้มีการเตือนภัย ไม่ให้เผยแพร่คลิปวีดีโอหรือเสียงสู่สาธารณะโดยไม่จำเป็น หรือแชร์ให้เฉพาะเพื่อนหรือครอบครัวเท่านั้น 

ที่มา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MEDS), Overloop, The Washington Post, Forbes, The hacker News, Malwarebytes, สยามรัฐ, Kaspersky, PPTV

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง