สหรัฐฯ ส่ง Global Hawk บินเหนือทะเลดำ หลังโดนรัสเซียสอยโดรนตก
วันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์เครื่องบินรบรัสเซีย ซู-27 (Su-27) จำนวน 2 ลำ เข้าสกัดกั้นโดรนบินไร้คนขับเอ็มคิว-9 รีเปอร์ (MQ-9 Reaper) จำนวน 1 ลำ ของสหรัฐอเมริกา บริเวณเหนือทะเลดำ โดยเครื่องบินรบรัสเซียได้ทำการบินเข้าไประยะใกล้และปล่อยของเหลวคล้ายน้ำมันใส่โดรนบินของสหรัฐอเมริกาจนทำให้โดรนตกลงสู่ทะเลดำ ล่าสุดวันที่ 19 มีนาคม มีรายงานว่ากองทัพสหรัฐอเมริกาตัดสินใจส่งโดรนบินรุ่นใหม่อาร์คิว-4 โกลบอลฮอว์ก (RQ-4 Global Hawk) ขึ้นบินสอดแนมเหนือทะเลดำ
โดยในรายงานระบุว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมโดรนบินอาร์คิว-4 โกลบอลฮอว์ก (RQ-4 Global Hawk) จำนวน 2 คน ของกองทัพสหรัฐอเมริกาได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการและเริ่มทำภารกิจตั้งแต่วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม ซึ่งเป็นการบินปฏิบัติการลาดตระเวนครั้งแรกนับจากเหตุการณ์เครื่องบินรบรัสเซีย ซู-27 (Su-27) เข้าสกัดการทำภารกิจ
การปะทะกันระหว่างเครื่องบินรบรัสเซีย ซู-27 (Su-27) กับโดรนบินไร้คนขับเอ็มคิว-9 รีเปอร์ (MQ-9 Reaper) ของสหรัฐอเมริกา นับเป็นการปะทะกันครั้งแรกระหว่างเครื่องบินของทั้งสองประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมหาอำนาจทางด้านการทหารและยิ่งทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนยิ่งรุนแรงมากขึ้น
กองทัพรัสเซียอ้างว่าโดรนบินไร้คนขับเอ็มคิว-9 รีเปอร์ (MQ-9 Reaper) ของสหรัฐอเมริกา ได้ทำการบินละเมิดน่านฟ้ารัสเซีย แม้กองทัพสหรัฐอเมริกาจะยืนยันว่าโดรนบินไร้คนขับบินทำภารกิจอยู่ในบริเวณน่านฟ้าสากล โดยในระหว่างการปะทะกันเครื่องบินรบรัสเซีย Su-27 ทั้ง 2 ลำ ได้บินเหนือโดรนบินไร้คนขับ 19 ครั้ง ก่อนจะทิ้งของเหลวคล้ายน้ำมันใส่ในการบินรอบที่ 15-19 ตามรายงานของสำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian)
ภายหลังจากโดรนบินไร้คนขับเอ็มคิว-9 รีเปอร์ (MQ-9 Reaper) ตกลงสู่ทะเลดำในตำแหน่งระดับความลึกประมาณ 1,200–1,500 เมตร ทางกองทัพรัสเซียและกองทัพสหรัฐอเมริกาต่างอ้างสิทธิในการเก็บกู้โดรนบินลำดังกล่าว โดยยังไม่ชัดเจนว่าฝ่ายไหนจะค้นพบตำแหน่งการตกของโดรนก่อนกัน
สำหรับโดรนบินอาร์คิว-4 โกลบอลฮอว์ก (RQ-4 Global Hawk) เทคโนโลยีเครื่องบินลาดตระเวนระยะไกลขับเคลื่อนด้วยไอพ่นแตกต่างจากโดรนบินไร้คนขับเอ็มคิว-9 รีเปอร์ (MQ-9 Reaper) ที่ยังคงใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยใบพัด โดรนบินอาร์คิว-4 โกลบอลฮอว์กถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท นอร์ธรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) ติดตั้งเทคโนโลยีเรดาร์ประสิทธิภาพสูง (SAR) และกล้องถ่ายภาพความร้อน (IR) บินทำความเร็วสูงสุด 629 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพดานบินสูงสุด 60,000 ฟุต หรือประมาณ 18 กิโลเมตร
ที่มาของข้อมูล Interestingengineering
ที่มาของรูปภาพ Northrop Grumman