รีเซต

"หมอเฉลิมชัย" ไขเหตุผล "ไทย" หลุดโผ ไม่ได้สูตรยาแพกซ์โลวิดของไฟเซอร์

"หมอเฉลิมชัย" ไขเหตุผล "ไทย" หลุดโผ ไม่ได้สูตรยาแพกซ์โลวิดของไฟเซอร์
TNN ช่อง16
17 พฤศจิกายน 2564 ( 15:53 )
66

วันนี้ (17 พ.ย.64) จากกรณีที่ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในลิสต์รายชื่อ 95 ประเทศ ที่ได้การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตสูตรยา "แพกซ์โลวิด" (Paxlovid) จากบริษัทผู้ผลิต โดยล่าสุด นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยอธิบายถึงกรณีดังกล่าวว่า

ไทยไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่จะผลิตยาโควิดราคาถูกของ Pfizer เหตุจากไม่ใช่ประเทศรายได้น้อย

จากสถานการณ์โควิดระบาดทั่วโลก ช่วงเกือบสองปี มี 222 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ ที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนรวมแล้วกว่า 255 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 5.1 ล้านคน จึงจัดเป็นโรคระบาดขนาดใหญ่ในรอบ 100 ปีของมนุษยชาติ วัคซีนและยารักษาโรค จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะป้องกันไม่ให้ติดโรค และรักษาผู้ที่ติดโรคแล้วไม่ให้เสียชีวิต

ขณะนี้มีสองบริษัทยายักษ์ใหญ่ที่ได้ทำการวิจัยพัฒนายาต่อต้านไวรัสอยู่ในการทดลองเฟสสาม และกำลังขอขึ้นทะเบียนใช้เป็นการทั่วไปอยู่ ได้แก่

1) บริษัท Merck&Co. ซึ่งวิจัยพัฒนายา Molnupiravir

2) บริษัท Pfizer ซึ่งวิจัยพัฒนายา Paxlovid

โดยขณะนี้บริษัท Pfizer ได้ทำข้อตกลงกับองค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (MPP : Medicines Patent Pool) ซึ่งอยู่ภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ (UN) โดยเห็นชอบร่วมกัน ที่บริษัทไฟเซอร์จะสละสิทธิบัตรยาให้กับ 95 ประเทศที่มีรายได้น้อย และรายได้ปานกลางขั้นต่ำ เพื่อให้สามารถผลิตยาได้เอง โดยไม่ต้องเสียค่าสิทธิบัตรให้กับบริษัท โดยเป็นกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกา และเอเชียเป็นหลัก

ประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น คองโก เอธิโอเปีย กานา เคนยา ไนจีเรีย แทนซาเนีย อูกันด้า เป็นต้น ในทวีปเอเชีย ได้แก่ อินเดีย บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา เนปาล เกาหลีเหนือ เป็นต้น

ส่วน "กลุ่มประเทศอาเซียน" ได้แก่ ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีรายได้อยู่ในระดับปานกลางขั้นสูง ไปจนถึงประเทศรายได้สูง ไม่ได้รับประโยชน์ในครั้งนี้ ได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ บูรไน

ทั้งนี้ จำนวน 95 ประเทศดังกล่าว จะครอบคลุมประชากรกว่า 53% โดยข้อตกลงดังกล่าว จะมีผลต่อเนื่องกันไป ตราบเท่าที่องค์การอนามัยโลกยังประกาศให้โควิดเป็นโรคที่อยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุขในระดับนานาชาติ ( WHO Public Health Emergency of International Concern )

บริษัท Pfizer มีแผนการที่จะผลิตยาภายในสิ้นปีนี้ 1.8 แสนคอร์ส และในปี 2565 จำนวน 50 ล้านคอร์ส โดย Pfizer จะยังคงจำหน่ายยาในราคาสูงกับประชากรอีก 47% โดยจะขายในราคาที่แตกต่างกันตามรายได้ของประชาชนในแต่ละประเทศ เป็นแนวทางเดียวกับที่บริษัท Merck ได้ดำเนินการมาก่อนแล้ว ในการสละสิทธิบัตรยาให้กับประเทศรายได้น้อยและประเทศรายได้ปานกลางขั้นต่ำจำนวน 105 ประเทศ

ยาของบริษัท Merck ขนาด 200 มิลลิกรัม รับประทานเช้า 4 เม็ด เย็น 4 เม็ด จำนวนห้าวัน รวม 40 เม็ดเป็นหนึ่งคอร์ส

ส่วนยาของบริษัท Pfizer ขนาด 150 มิลลิกรัม รับประทานทานเช้า 2 เม็ดเย็น 2 เม็ด จำนวนห้าวัน รวม 20 เม็ด แต่ต้องทานร่วมกับยาอีกตัวหนึ่งซึ่งเป็นยาต่อต้านโรคเอดส์ (Ritonavir) ขนาด 100 มิลลิกรัม เช้า 1 เม็ด เย็น 1 เม็ด ห้าวัน รวมอีก 10 เม็ด รวมเป็นคอร์สละ 30 เม็ด

ทิศทางที่บริษัทยาต่างๆ ซึ่งเป็นธุรกิจเอกชน ทำความตกลงร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ เป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม ทั้งของภาคเอกชนและขององค์การสหประชาชาติ ที่จะทำให้ประชาชนในประเทศที่มีรายได้น้อย และรายได้ปานกลางขั้นต่ำ สามารถเข้าถึงยาและวัคซีนที่มีความจำเป็นกับชีวิตได้

จัดเป็นความพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินและทางสาธารณสุขลง หรือเป็นการสร้างความเสมอภาค ให้เกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาตินั่นเอง นับเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม สมควรจะให้กำลังใจ และชื่นชมกัน

หมายเหตุ : ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง จึงไม่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์ในครั้งนี้


ข้อมูลจาก ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง