รีเซต

ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอน 1 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอน 1 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
16 เมษายน 2564 ( 12:31 )
90
ประสบการณ์การทำธุรกิจในแดนมังกร ตอน 1 โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

วันนี้ผมไปเก็บตกสาระดีๆ ที่มากด้วยคุณค่าจากการบรรยายพิเศษเรื่อง “ประสบการณ์การทำธุรกิจในประเทศจีน” ของท่านธนากร เสรีบุรี นายกสมาคมส่งเสริมการลงทุนและการค้าไทย-จีน และรองประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ พลเมืองกิตติมศักดิ์ของเซี่ยงไฮ้ และอีกมากมายหลายตำแหน่ง ที่สโมสรโรตารี บางรัก จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2021 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน มาแบ่งปันกับผู้อ่านที่พลาดโอกาสไปร่วมฟังแบบสดๆ กัน ...


เก่งหรือจะสู้เฮง ท่านธนากรฯ เริ่มต้นด้วยการเล่าที่มาที่ไปว่าชีวิตของท่านไปเกี่ยวข้องกับจีนได้อย่างไร ทั้งที่ คุณพ่อปลูกฝังอยากให้เปิดร้านขายยา “ไม่เหม็น ไม่เน่า” โดยสอดแทรกความเชื่อที่ว่า “เฮงดีกว่าเก่ง” 


ท่านมีพื้นเพเป็นคนหาดใหญ่ แต่เพราะเศรษฐกิจภาคใต้ที่ไม่ค่อยดี ท่านก็เลยเข้ามาฝึกงานและถือโอกาสศึกษาลู่ทางธุรกิจที่กรุงเทพฯ “ยา” ก็ทำให้ท่านโชคดีได้พบและเข้ามาทำงานดูแล “ยาสัตว์” กับท่านธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสของเครือในปัจจุบัน

 

ด้วยเพราะความสามารถในด้านภาษาจีนเป็นพื้นฐาน ท่านก็เลยได้รับมอบหมายให้ไปดูแลการทำตลาดอาหารสัตว์ที่ฮ่องกงในเวลาต่อมา


แต่อาจเป็นเพราะขายดีจนราคาอาหารสัตว์ในประเทศแพงขึ้น และก็มีคนออกมาประท้วง ทำให้กระทรวงพาณิชย์ของไทยขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์และห้ามส่งออก บริษัทก็เลยปรับกลยุทธ์เป็นการนำเอาวัตถุดิบ อาทิ ข้าวโพด ปลาป่น และรำจากไทยไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ที่ฮ่องกงแทน



ปี 1975 ไทยและจีนเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ต่อมาเมื่อเริ่มเปิดประเทศสู่โลกภายนอกในปี 1978 จีนก็ใช้แนวคิด “คลำหินข้ามคลอง” คือ ทยอยเปิดทีละพื้นที่ทีละส่วนเพื่อลดความเสี่ยง โดยให้ความสำคัญกับการส่งสินค้าไปขายต่างประเทศ และเชิญชวนการลงทุนต่างชาติ เพื่อให้ได้เงินตราต่างประเทศ 


40 ปีของการพัฒนาจีน จีนทุ่มเต็มที่ พร้อมกำหนดแนวทางและเป้าหมายการดำเนินงานอย่างชัดเจน โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 ช่วงเวลา


ช่วง 10 ปีแรก เริ่มจากเมืองทางตอนใต้แถมมณฑลกวางตุ้ง และลุ่มแม่น้ำเพิร์ล (จูเจียง) โดยจีนเริ่มเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 แห่ง อันได้แก่ เซินเจิ้น จูไห่ ซัวเถา และเซียะเหมิน เพื่อรองรับการลงทุนจากฮ่องกง มาเก๊า ไทย และไต้หวัน ตามลำดับ 


การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนในยุคแรกนับว่าประสบความสำเร็จมาก โดยในระยะแรก เซินเจิ้นและจูไห่ไปเร็ว ซัวเถาช้าสุด ขณะที่เซียะเหมินอาจเริ่มช้า แต่ก็พัฒนาโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ ทำให้วันนี้ใครไปก็จะบอกว่าเซียะเหมินสวยงามเหมือนกับสหรัฐฯ หรืออังกฤษ 


โดยที่คนในพื้นที่ตอนใต้ค้าขายเก่ง ซึ่งซีพีมองเห็นเป็นโอกาส จึงจับมือกับคอนทิเนลตัลเกรน จำกัดของสหรัฐฯ ขยายเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์ที่เซินเจิ้น โดยจดทะเบียนนิติบุคคลต่างชาติเป็นรายแรกในจีน “ทะเบียนพาณิชย์ 0001” ซึ่งท่านก็โชคดีอีกครั้ง โดยได้รับมอบหมายให้ไปเป็นผู้จัดการคนแรก และประจำอยู่ที่นั่นราว 3 ปี


ท่านธนากรฯ ค่อยๆ ถอดรหัสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เห็นภาพอย่างชัดเจนทีละเล็กละน้อย “ในยุคนั้น จีนยังล้าหลังอยู่มาก ผมโชคดีที่ได้เห็นจีนตั้งแต่ยุคที่ยังล้าหลัง เพราะปิดประเทศไปอย่างน้อย 30 ปี” 


ชีวิตในสมัยนั้นไม่ได้สะดวกสบายดังเช่นทุกวันนี้ แทบหาที่พักดี ๆ ไม่ได้ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ที่เซินเจิ้นในยุคนั้น ก็ใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาประกอบกันและติดเครื่องปรับอากาศเป็นที่พัก และไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น เราต้องถือกระติกน้ำร้อนขึ้นตึกสูง 4-5 ชั้นอยู่ตลอด 


หรือในยุคนั้น พวกเราที่ไปซัวเถาก็บอกว่า ต้องกินแอปเปิ้ลเน่าอยู่เสมอ เหตุเพราะรัฐบาลควบคุมเรื่องการเพาะปลูก ราคา การกระจาย และการขายสินค้า จีนมีแอปเปิ้ลสดดีๆ ออกมาทุกวัน แต่เนื่องจากรถเข็นขายผลไม้เป็นของรัฐ และกำหนดให้ “ของมาก่อน ขายก่อน” ทำให้ต้องขายผลไม้เก่าที่ใกล้เน่าก่อน และเก็บผลไม้ดีไว้ขายในอนาคต ซึ่งกว่าที่ผลไม้เดิมจะขายออกหมด แอปเปิ้ลใหม่ก็ใกล้เน่าแล้ว จะขอซื้อของใหม่ที่เก็บอยู่ก็ไม่ยอมขาย



แต่จีนก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนไม่น่าเชื่อ จีนทันสมัยมาก ยกตัวอย่างเช่น รถแท็กซี่ในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ไม่รับเงินสดแล้ว 


ท่านธนากรฯ ยังเล่าถึงอุปสรรคในการประกอบธุรกิจในยุคแรกในจีนว่าไม่ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ การไปลงทุนของซีพีก็ประสบปัญหามากมาย อันเนื่องจากกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติของจีน อาทิ การจำต้องซื้อลิ้นจี่และต้นไผ่จากเกษตรกรเพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้งเกี่ยวกับสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ในที่ดินกับเกษตรกรและรัฐบาลท้องถิ่น


หรือแม้กระทั่งปัญหาจากการบูรณาการการทำงานข้ามหน่วยงานที่เกิดขึ้นยาก ในช่วงนั้น พวกเราอยู่เซินเจิ้น 3 ปีเหมือนอยู่นาน 10 ปี การเดินทางเข้าไปทำงานที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นก็เสียเวลามาก แต่ละหน่วยงานไม่เชื่อมโยงกัน


นายกเทศมนตรีในยุคนั้นเปลี่ยนบ่อย ผู้อำนวยการแต่ละกองมากจากหลายมณฑล นอกจากเก่งแล้ว ยังมีเส้นดี มีผู้สนับสนุนเบอร์ใหญ่อยู่เบื้องหลัง ทำให้การทำงานร่วมมือกันไม่ค่อยเกิดขึ้น ซึ่งกระทบต่อการพัฒนา และการลงทุนของภาคเอกชน


ยกตัวอย่างเช่น หลังจากที่ซีพีลงทุนสร้างฟาร์มเลี้ยงสุกรใหม่ที่เซินเจิ้นได้ไม่นาน ก็ได้รับแจ้งจากอีกหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่นว่า ทางการจีนจะตัดถนนผ่านพื้นที่ของเรา ในท้ายที่สุด เราก็ต้องย้ายโรงงานใหม่ เสียหายมหาศาลแต่ก็ต้องยอม


หรือซีพีนำเสนอโครงการลงทุนเลี้ยงไก่ครอบครัวละ 10,000 ตัวในจีน เจ้าหน้าที่ของจีนก็ไม่เชื่อว่าทำได้ เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน ซีพีต้องเชิญคณะผู้แทนมาดูงานและฝึกอบรมที่ไทย และต่อมาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ซีพีพร้อมนำเอาเทคโนโลยีและของดีมีคุณภาพไปสู่จีน


แต่ยังดีที่ในยุคนั้นไก่ในจีนยังไม่พอต่อความต้องการในการบริโภค จึงขายหมด และขายได้ราคา ทำให้กิจการสามารถมีกำไรมากพอที่มาชดเชยค่าใช้จ่ายที่สูงเหล่านี้ได้


ปัจจัยเบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาของจีน เมื่อถามถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนประสบความสำเร็จ ท่านธนากรฯ ให้ข้อคิดเห็นว่าเกิดขึ้นเพราะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน 



ท่านธนากรฯ เล่าให้ฟังว่า ครั้งหนึ่งท่านมีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ และสอบถามความคิดเห็นของท่านเติ้ง ต่อประเด็นการพัฒนาคนของจีน ซึ่งจีนส่งคนไปศึกษาต่อในต่างประเทศปีละ 2,000 คน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ ญี่ปุ่น ...


แม้กระทั่งในที่ประชุมกระทรวงที่ดูแลกิจการจีนโพ้นทะเลก็เคยรายงานว่า เพียง 1 ใน 3 ของคนที่ไปศึกษาต่อต่างประเทศที่เดินทางกลับประเทศ ราว 1 ใน 3 ไม่กลับประเทศ และที่เหลือเดินทางไปมาระหว่างจีนกับต่างประเทศ 


แต่ท่านเติ้งก็มองขาดว่า เมื่อจีนพร้อมและมีเวทีให้คนที่ไปศึกษาต่อเล่น คนเหล่านี้ก็จะกลับจีน เพราะไม่มีใครอยากเป็นเพียงพลเมืองชั้นสองในต่างประเทศหรอก

 

แรกๆ กลับมาก็ยึดหนังสือเดินทาง จะเดินทางไปต่างประเทศแต่ละครั้งก็ต้องมาทำเรื่องขอหนังสือเดินทาง ครั้งที่สอง ก็ให้ถือพาสปอร์ตไว้ แต่จะเดินทางต่างประเทศก็ต้องมาขออนุญาต หลังจากนั้น ก็เริ่มผ่อนคลายให้เดินทางต่างประเทศได้โดยเสรีมากขึ้นโดยลำดับ



นอกจากนี้ เรายังเห็นจีนกล้าปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากผู้บริหารที่มีอายุ 70 ปีมาใช้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การแต่งตั้งรองนายกเทศมนตรีนครปักกิ่งอายุแค่ 35 ปี และรองนายกเทศมนตรีนครเซี่ยงไฮ้ อายุ 39 ปีในปีต่อมา แม้กระทั่งรัฐวิสาหกิจ และกิจการเอกชนจีน


คนจีนฉลาดมาก ท่านเคยสนใจอยากร่วมลงทุนในโรงงานปั่นด้ายในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งยังกำไรดีอยู่ แต่ปรากฏว่า กิจการเหล่านี้ตัดสินใจย้ายเข้าไปลงทุนในพื้นที่ตอนใน ซึ่งพอแลกเปลี่ยนมุมมองกันกับผู้บริหารระดับสูงของโรงงานปั่นด้ายเหล่านี้ก็ได้รับคำตอบว่า รัฐบาลเซี่ยงไฮ้ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาแล้วว่า เซี่ยงไฮ้จะเป็นเมืองทันสมัยในอนาคต จะเป็นเมืองการค้า การบิน ท่องเที่ยว และเทคโนโลยีชั้นสูง ขณะที่ธุรกิจเหล่านี้เป็นประเภทแรงงานเข้มข้น ซึ่งมีเวลาเหลืออยู่ไม่นาน ถ้าไม่รีบย้ายตอนนี้ ก็จะไม่มีราคา


ช่วง 10 ปีที่ 2-3-4 จีนเปลี่ยนแปลงไปเช่นไร ผู่ตงถือกำเนิดขึ้นได้อย่างไร เราไปติดตามกันในตอนหน้า ...


#ธนากร เสรีบุรี

#ธนินท์ เจียรวนนท์

#ซีพี

#การทำธุรกิจในจีน

#ความสำเร็จในการพัฒนาของจีน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง