นศ.ชายแดนใต้ตกงานขั้นวิกฤต ศอ.บต.เร่งแก้ปัญหาปี64 จบใหม่50% ต้องไม่เคว้ง
ศอ.บต.จับมือสสว.พัฒนาวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี ชายแดนใต้ใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอจ.สงขลา หวังป้อนงานให้เด็กจบใหม่เฉลี่ย 3-4 หมื่นคนต่อปี มั่นใจปี 64 มีงานแน่ 50% จากปกติว่างงาน 70-80% ต่อปีต้องออกไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย เร่งตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเจาะรายตัว
พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้(ศอ.บต.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับ นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ที่สำนักงานศอ.บต. จ.ยะลา ว่า ศอ.บต.จะร่วมกับสสว.ขับเคลื่อนผู้ประกอบการภาคเกษตร โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ4อำเภอในจ.สงขลา ให้มีรายได้จากการผลิตสินค้า แปรรูปสินค้าในพื้นที่มากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ รวมทั้งสร้างงานในพื้นที่ เพราะปัจจุบันแรงงานในพื้นที่ส่วนใหญ่ตกงาน เด็กจบใหม่หลักหมื่นคนเลือกไปทำงานประเทศมาเลเซีย โดยปี2564 พบว่า 63 สถาบันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีคนจบปวช. 7,500 คน ปวส. 9,500 คน ปริญญาตรี 18,000 คน ปริญญาโท 900 คน ปริญญาเอก 300 คน รวมกว่า 36,000 คน จำนวนนี้ศอ.บต.ตั้งเป้าหมายจะสร้างงานในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 50% หรือไม่ต่ำกว่า 18,000 คน
“ปัจจุบันพื้นที่ชายแดนใต้จะมีเด็กจบใหม่เฉลี่ย 30,000-40,000 คนต่อปี มีงานทำเป็นหลักแหล่งไม่เกิน 20-30%ในแต่ละปี เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมา 4-5 ปีแล้ว แต่ล่าสุดเด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนทัศนคติเริ่มทำธุรกิจในพื้นที่มากขึ้น เป็นเรื่องดี จากปัจจุบันธุรกิจที่โดดเด่นในพื้นที่ คือกลุ่มอาหารแปรรูป เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เสื้อผ้ามุสลิม ที่ส่งออกไปทั่วโลก ความร่วมมือกับสสว.จะสร้างแบรนด์ให้กับสินค้า เป็นของดีชายแดนใต้ “พล.ร.ต.สมเกียรติกล่าว
พล.ร.ต.สมเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชากร 3.7 ล้านคน หรือเกือบ 9 แสนครัวเรือน 70% เป็นเกษตรกร มีการผลิตซึ่งอยู่ในเศรษฐกิจฐานรากค่อนข้างมาก แต่ความไม่สงบกระทบกับความเป็นอยู่ของประชาชน ศอ.บต.จะร่วมมือกับสสว.ในการพัฒนาผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนใต้ให้ยกระดับการผลิตสินค้าของวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) มั่นใจว่าความร่วมมือนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ประกอบการชายแดนใต้ และเร็วๆนี้ ศอ.บต.จะร่วมกับสสว.ตั้งศูนย์ประสานงานฝึกอบรมเพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอีในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ประชาชน ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้ารับข้อมูล
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านโครงการต่างๆของสสว. ซึ่งผู้ประกอบการอาจไม่ทราบรายละเอียด ดังนั้นจะประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ เร่งสร้างตลาดให้ อาทิ การช่วยเหลือด้านมาตรฐานทั้งสินค้าที่ผลิตขายในประเทศและส่งออก นอกจากนี้จะเชื่อมโยงกับศูนย์เอคเซลเลนท์ เซ็นเตอร์ ของสสว.ที่กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับกลุ่มผู้จบใหม่ นักเรียน นักศึกษาให้มีงานทำ มีธุรกิจใหม่ๆ ในช่วงที่ประเทศกำลังเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และอีกเป้าหมายคือการยกระดับผู้ประกอบการที่มีอยู่ให้เติบโต เกิดการจ้างงานมากขึ้น มั่นใจว่าปีนี้จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ได้เพิ่มเกือบ 100%