รีเซต

รางรถไฟพลังงานแสงอาทิตย์ Sun-Ways ผลิตไฟฟ้าใช้ไม่เปลืองพื้นที่

รางรถไฟพลังงานแสงอาทิตย์ Sun-Ways ผลิตไฟฟ้าใช้ไม่เปลืองพื้นที่
TNN ช่อง16
18 ตุลาคม 2567 ( 14:45 )
42

ซัน-เวยส์ (Sun-Ways) สตาร์ตอัปด้านพลังงานสะอาดจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เสนอแนวคิดการผลิตพลังงานไฟฟ้า ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ระหว่างรางรถไฟ เพื่อดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์ และยังเป็นการช่วยให้สามารถใช้พื้นที่ว่างระหว่างเส้นทางรถไฟต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น

  

ภาพจาก Sun-Ways


แผงโซลาร์เซลล์แต่ละแผง จะมีขนาด 1 x 1.7 เมตร และติดตั้งฟิลเตอร์ป้องกันแสงสะท้อน โดยแต่ละแผงพัฒนาขึ้นเป็นพิเศษให้สามารถวางในช่องว่างของรางเส้นทางรถไฟที่ยังใช้งานอยู่ และสามารถปล่อยให้รถไฟ แล่นผ่านรางเหล่านั้นได้ เนื่องจากบริษัททดสอบแล้วว่าแผ่นโซลาร์เซลล์เหล่านี้ สามารถทนต่อแรงลมขณะรถไฟวิ่งผ่านได้ที่ 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมง


ส่วนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ วิศวกรสามารถ ติดตั้งและเชื่อมต่อโมดูลแผงโซลาร์เซลล์แต่ละแผงให้ต่อกันได้ด้วยตนเอง หรือใช้เครื่องจักรช่วยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งบริษัทเคลมว่าติดตั้งได้มากถึง 1,000 ตารางเมตรต่อวัน


โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะสร้างพลังงาน ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบบถอดได้นี้ ไปตามช่องว่างระหว่างเส้นทางรถไฟ เป็นระยะทางกว่า 5,000 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ราว 1 เทระวัตต์ชั่วโมงต่อปี (TWh) ซึ่งถ้าพัฒนาระบบได้สำเร็จ บริษัทคาดว่าระบบจะสามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าได้เกือบ 1 ใน 3 ของภาคการขนส่งสาธารณะของประเทศ และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้กว่า 200,000 ตันต่อปี 


ทั้งนี้บริษัทระบุว่า ไฟฟ้าที่ผลิตโดยระบบ สามารถนำไปใช้จ่ายพลังงานให้กับโครงสร้างพื้นฐานใกล้เคียง เช่น สวิตช์ต่าง ๆ หรือแม้แต่จ่ายให้กับสถานีรถไฟ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานเสริมที่มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยปัจจุบันนี้ บริษัทตั้งเป้าที่จะเริ่มทดสอบการใช้งานบนเส้นทางความยาว 1,500 เมตร ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และกำลังอยู่ในระหว่างจัดตั้งโครงการนำร่องร่วมกับประเทศอื่น ๆ เช่น สเปน โรมาเนีย จีน ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศไทยอีกด้วย

ข้อมูลจาก newatlastraveltomorrow

ข่าวที่เกี่ยวข้อง