รีเซต

นาซาเตรียมส่งยานโนวา-ซี (Nova-C) ไปลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์

นาซาเตรียมส่งยานโนวา-ซี (Nova-C) ไปลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์
TNN ช่อง16
15 กุมภาพันธ์ 2567 ( 11:52 )
56
นาซาเตรียมส่งยานโนวา-ซี (Nova-C) ไปลงจอดบนขั้วใต้ของดวงจันทร์

ภายหลังจากความล้มเหลวในภารกิจยานเพเรกริน (Peregrine) ช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา นาซาเตรียมทำภารกิจส่งยานโนวา-ซี (Nova-C) ที่ได้ร่วมมือกับบริษัท อินทูอิทิฟ แมชชีนส์ (Intuitive Machines) บริษัทเทคโนโลยีอวกาศชั้นนำ ยานอวกาศลำนี้มีกำหนดการส่งขึ้นสู่อวกาศในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา หลังจากเลื่อนกำหนดการปล่อยมาจากวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยใช้จรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ก่อนลงจอดบริเวณขั้วโลกใต้ของดวงจันทร์ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 


ภารกิจยานโนวา-ซี (Nova-C) หรือไอเอ็ม-วัน (IM-1) ตัวยานได้บรรทุกสัมภาระจำนวน 11 ชิ้น โดยแบ่งออกเป็นครึ่งเป็นของบริษัทเอกชน และอีกครึ่งหนึ่งเป็นอุปกรณ์ทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์ของนาซา ซึ่งผลการทดลองที่จะเกิดขึ้นมีความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมในภารกิจอาร์เทมิส 3 (Artemis 3) การส่งนักบินอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ที่จะเริ่มต้นในปี 2026


ยานโนวา-ซี (Nova-C) ได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นยานลงจอดเพื่อสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ โครงสร้างของยานมีน้ำหนักประมาณ 1.9 ตัน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตกระแสไฟฟ้า 3 แผง กำลังการผลิตไฟฟ้า 200 วัตต์ ระบบขับเคลื่อนของยานเป็นเชื้อเพลิงเหลวมีเทนและออกซิเจนเหลว ระบบการลงจอดได้รับการออกแบบให้สามารถเปลี่ยนจุดลงจอดได้หากพบสิ่งกีดขวางอันตราย


จุดลงจอดบนดวงจันทร์ของยานโนวา-ซี (Nova-C) ห่างจากขั้วใต้ของดวงจันทร์ประมาณ 300 กิโลเมตร เรียกว่า มาลาเพิร์ต เอ มีลักษณะเป็นปล่องภูเขาไฟขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง 69 กิโลเมตร จุดลงจอดดังกล่าวอยู่ใกล้กับหนึ่งใน 13 จุด บนดวงจันทร์ที่นาซากำลังเลือกเพื่อเป็นจุดลงจอดของยานอวกาศในภารกิจอาร์เทมิส 3 (Artemis 3)


แนวคิดของภารกิจยานโนวา-ซี (Nova-C) คือ การออกแบบภารกิจส่งอุปกรณ์สำรวจไปลงจอดบนดวงจันทร์ในราคาที่ประหยัด ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนของนาซาผ่านโปรแกรม Commercial Lunar Payloads Services (CLPS) เมื่อต้นทุนของภารกิจต่ำลงจะทำให้นาซามีโอกาสทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่หลากหลายรูปแบบมากขึ้น 


หนึ่งในการทดลองที่สำคัญของภารกิจยานโนวา-ซี (Nova-C) คือ การสื่อสารจากขั้วใต้ของดวงจันทร์กลับมายังโลก ซึ่งระบบสื่อสารจะต้องพบกับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงตำแหน่งที่ตั้งของโลกเมื่อมองจากบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์จะอยู่ในจุดที่ต่ำใกล้เส้นของฟ้าของดวงจันทร์ ทำให้การส่งสัญญาณสื่อสารอาจถูกตัดขาดในบางช่วงหรืออาจประสบปัญหาอื่น ๆ ได้ เนื่องจากโดนลักษณะภูมิประเทศของพื้นผิวดวงจันทร์บดบังสัญญาณ


นับว่าภารกิจยานโนวา-ซี (Nova-C) มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อภารกิจอาร์เทมิส 3 (Artemis 3) และหากยานทำภารกิจสำเร็จจะกลายเป็นยานอวกาศแบบไร้นักบินลำแรกของโลก ที่เดินทางไปลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ได้สำเร็จ




ที่มาของข้อมูล Space, Everydayastronaut.com

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง