รีเซต

“ดาวหางฮัลเลย์” ดาวหางแห่งกาลเวลา สะท้อนชีวิตคนเราแสนสั้นท่ามกลางจักรวาลอันยิ่งใหญ่

“ดาวหางฮัลเลย์” ดาวหางแห่งกาลเวลา สะท้อนชีวิตคนเราแสนสั้นท่ามกลางจักรวาลอันยิ่งใหญ่
TNN ช่อง16
9 พฤษภาคม 2568 ( 00:39 )
6

ในห้วงอวกาศอันกว้างใหญ่ไพศาล ชีวิตของมนุษย์เปรียบเสมือนเพียงการกะพริบตาเพียงครั้งเดียว ทว่าเปี่ยมไปด้วยความงดงาม ความลึกลับ และความหมาย 

เรื่องราวดาวหางดวงหนึ่ง “ดาวหางฮัลเลย์” (Halley’s Comet) ถูกนำมาเล่าซ้ำ ๆ และเป็นหนึ่งในดาวหางที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ดาวหางดวงนี้มีวงโคจรเฉลี่ยใกล้โลกทุก ๆ 75-79 ปี ทำให้สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าเพียงหนึ่งหรือสองครั้งในช่วงชีวิตของบุคคลหนึ่งเท่านั้น

ชื่อของดาวหางดวงนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับเอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ (Edmond Halley) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 17 ซึ่งในปี ค.ศ. 1705 เขาได้ใช้กฎแรงโน้มถ่วงของนิวตันในการคำนวณวงโคจรของดาวหางหลายดวงที่ปรากฏในปี 1531, 1607 และ 1682 และเสนอว่าดาวหางเหล่านี้เป็นดวงเดียวกัน นั่นก็คือ "ดาวหางฮัลเลย์" นั่นเอง โดยเขาคาดการณ์ว่ามันจะกลับมาอีกในปี 1758 ซึ่งต่อมาก็พบว่าคาดการณ์ถูกต้องแม่นยำ

ก่อนการค้นพบของเอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ มีบันทึกการพบเห็นดาวหางฮัลเลย์มาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ เช่น 

รายงานเกี่ยวกับดาวหางฮัลเลย์โดยนักดาราศาสตร์ชาวจีนในปี 240 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคของราชวงศ์ฉิน (Qin Dynasty) หรือช่วงรอยต่อระหว่างราชวงศ์โจว (Zhou) กับฉิน นักดาราศาสตร์จีนในเวลานั้นบันทึกว่ามี “ดาวหางที่มีหางยาวปรากฏในท้องฟ้าทางตะวันตกเฉียงใต้” โดยเคลื่อนไปทางทิศตะวันออก และถือเป็นหลักฐานการสังเกตการณ์ดาวหางฮัลเลย์ที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์

บันทึกในพงศาวดารซุกนินกล่าวถึงดาวหางฮัลเลย์ใน ปี  ค.ศ. 760 อารามของคริสต์ศาสนาแห่งหนึ่งในเมืองอะมีด (Amida) หรือ ดียาร์บากีร์ (Diyarbakır) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี พร้อมภาพประกอบที่รวมถึงตำแหน่งสัมพันธ์ของราศีเมษดาวอังคารและดาวเสาร์บนท้องฟ้า

นอกจากนี้ยังมีบันทึกการสังเกตดาวหางฮัลเลย์ที่บันทึกไว้ในรูปแบบคูนิฟอร์มบนแท็บเล็ตดินเหนียวระหว่างวันที่ 22 ถึง 28 กันยายน 164 ปีก่อนคริสตกาล ที่เมืองบาบิลอนประเทศอิรัก


อย่างไรก็ตาม บันทึกในประวัติศาสตร์สำคัญมากเกี่ยวกับพบการปรากฏตัวของดาวหางฮัลเลย์เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1986 เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของมนุษย์ได้พัฒนาขึ้นมากและมีความเข้าใจอวกาศระดับหนึ่งแล้ว ประกอบกับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารยุคใหม่ที่ทำได้รวดเร็ว

และคาดว่าการกลับมาให้เห็นอีกครั้งของดาวหางฮัลเลย์ในปี 2061 หรือในอีก 36 ปี ข้างหน้าจะเป็นโอกาสสำคัญของการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ระดับโลกอีกครั้ง ซึ่งหากพลาดการรับชมในปี 2061 อาจต้องรอจนถึงปี 2134 ซึ่งหมายถึงคนรุ่นต่อไปในอนาคต หลังจากพวกเราทุกคนในยุคนี้ได้จากไปแล้ว ซึ่งมันก็ช่วยสะท้อนถึงวัฏจักรอันยาวนานที่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้เวลาจะเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง และผู้คนบนโลกจะเปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลาก็ตาม

ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ดาวหางฮัลเลย์ ยังคงเดินทางอยู่ในเส้นทางของตนเองอย่างต่อเนื่องไม่แปรเปลี่ยน ถือเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงในจักรวาลท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง

บทเรียนสำคัญจากดาวหางฮัลเลย์อาจอยู่ตรงที่ทำให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของ “เวลา” และความเปราะบางของการดำรงอยู่ของมนุษย์ 

เมื่อพิจารณาจากขอบเขตของจักรวาลและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ใช้เวลาหลายสิบปีต่อรอบ เราจะพบว่าชีวิตมนุษย์นั้นเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ที่ได้มีโอกาสอยู่ร่วมในประวัติศาสตร์ของจักรวาลที่ยาวนานนับพันล้านปี

อาจกล่าวได้ว่าการเฝ้ารอรับชมดาวหางดาวหางฮัลเลย์ไม่เพียงแต่เป็นการชมความงดงามของธรรมชาติ แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับมิติของเวลาและจักรวาล ช่วยกระตุ้นให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการบันทึก ประเมิน และถ่ายทอดความรู้ ความรู้สึก และแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลัง เพื่อที่พวกเขาจะได้มีโอกาสมองขึ้นไปบนฟ้าในวันหนึ่ง และรู้ว่าพวกเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่นี้เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง