Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล: “สายตาหลอกกันไม่ได้” สรุป “สายตาออดอ้อน” น้องหมา มีไว้เพื่อมนุษย์จริงหรือ ?
ว่ากันว่า สุนัขเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ ทุกอากัปกิริยาที่แสดงออกมา ส่วนมากจะได้รับการมองว่าน่ารัก น่าเอ็นดูทั้งสิ้น โดยเฉพาะการที่สุนัข “ทำสายตาออดอ้อน (Adorable eyes)” มนุษย์เราเห็นทีไรต้องเป็นต้องใจอ่อน
แต่มีงานศึกษาออกมาชี้ชัดว่า พวกสุนัขไม่ได้แสดงพฤติกรรมอย่างที่ว่าเพื่อออดอ้อนมนุษย์ หากแต่เป็นพฤติกรรมที่ปรากฏได้โดยทั่วไปของสุนัขป่า และไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อออดอ้อนขนาดนั้น
แววตามันฟ้อง
บทความ Adaptations to sociality in the mimetic and auricular musculature of the African wild dog (Lycaon pictus) เขียนโดย “เฮเธอร์ สมิธ” นักกายวิภาคศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิดเวสเธิร์น และคณะ ได้เสนอว่า การให้เหตุผลที่ว่า สุนัขพัฒนาการสร้างสายตาอ้อนวอนขึ้นมาจากการปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมมนุษย์ ในฐานะสัตว์เลี้ยงที่ต้องพยายามสื่อสารผ่านสายตาเพื่อให้เจ้าของเกิดอารมณ์เชิงบวก เพื่อให้ได้สิ่งตอบแทนที่มากขึ้น สิ่งดังกล่าวนี้ “เป็นเท็จ” ทั้งสิ้น
นั่นเพราะ หากเพิ่มมุมมองให้กว้างขึ้นโดยการพิจารณาสุนัขป่า โดยกลุ่มศึกษาที่สมิธยกมานั้นคือ “สุนัขป่าแอฟริกัน (African wild dog [Lycaon pictus])” พบว่า สุนัขป่าพวกนี้ มีการใช้สายตาอ้อนแบบเดียวกันกับสุนัขบ้านเลย
ตรงนี้ เป็นเรื่องที่แปลกมาก ๆ เพราะสุนัขป่าไม่เคยสัมผัสกับมนุษย์ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีโอกาสเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์
"นั่นจึงเป็นการหักล้างความเชื่อที่ว่า สุนัขบ้านเป็นสุนัขกลุ่มเดียวที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ และพฤติกรรมเช่นนี้ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อพวกเราเสียด้วย" สมิธ กล่าว
สมิธยังเสนอเพิ่มเติมว่า การใช้สายตาอ้อนวอนนี้ เป็นไปเพื่อ “การสื่อสารภายในกลุ่ม” ของสุนัขป่าแอฟริกัน โดยเฉพาะ การสื่อสารเพื่อการล่าเหยื่อในพื้นที่โล่งของทุ่งหญ้าสะวันนา ที่ต้องใช้การวางกลยุทธ์ค่อนข้างสูงเพราะเป็นที่โล่งกว้าง การเห่าหรือส่งสัญญาณโดยใช้เสียง อาจทำให้เหยื่อไหวตนได้ง่าย
ดังนั้น การทำสายตาอ้อนวอน จึงเป็นหนึ่งในสัญญาณที่สุนัขป่าใช้ส่งหากัน เพื่อสื่อสารกลยุทธบางอย่าง และอาจมีการทำสัญญาณรูปแบบอื่น ๆ อีกด้วย
ลองมองในตาเขา
การค้นพบของสมิธและคณะ อนุมานได้ว่า พฤติกรรมสายตาอ้อนวอนของสุนัขบ้าน อาจไม่ได้เป็นเรื่องของการทำให้มนุษย์หลงใหล แต่เป็นสิ่งที่สุนัขนั้นกระทำมาเป็นสันชาติญาณตั้งแต่ก่อนที่มนุษย์จะนำมาเป็นสัตว์เลี้ยง
แต่สิ่งที่น่าสงสัย นั่นคือ การศึกษานี้อาจมี “จุดบกพร่อง” อย่างน้อย 3 จุดด้วยกัน
ประการแรก อดัม ฮาร์ทสโตน-โรส นักสัณฐานวิทยาเปรียบเทียบ ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ธแคโรไลนา ได้ตั้งข้อสังเกตบางอย่างที่อาจจะเป็นข้อบกพร่องในงานศึกษาของสมิธ นั่นคือ โดยปกติ กล้ามเนื้อใบหน้าของสุนัขป่าแอฟริกาจะแข็งแรงกว่าของสุนัขบ้าน เพราะต้องใช้กัด เฉาะ ฉีกเนื้อของเหยื่อออกมา ต่างกับสุนัขบ้านที่มีผู้หาอาหารมาให้เสมอ
ดังนั้น ด้วยความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ทำให้เป็นไปได้ยากที่สุนัขป่าจะทำสายตาอ้อนวอนเช่นนั้นได้ เพราะการจะทำเช่นนั้น กล้ามเนื้อต้องยืดหยุ่นมากพอ
อีกอย่าง สุนัขป่าไม่ได้ออกล่าในภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้ากว้างเพียงอย่างเดียว ยังมีการออกล่าในพื้นที่รกชัฏ ป่าทึบ หรือภูเขาสูง ที่อาจจะมีการบดบังทัศนียภาพหรือการมองเห็นกันและกันของพวกนี้ คำถามคือ การใช้สายตาสื่อสาร จะทำได้อย่างไร
ฮาร์ทสโตน-โรส จึงเสนอว่า จริง ๆ พวกสุนัขป่านี้ อาจจะสื่อสารทั้งสายตาและการเห่าหอน ตามแต่ภูมิประเทศในการล่าจะเหมาะสมให้ทำแบบใด
ประการที่สอง ในงานศึกษานี้ ยกกลุ่มตัวอย่างการวิเคราะห์มาจากฝูงสุนัขป่าแอฟริกาเพียงกลุ่มเดียว คำถามคือ สุนัขป่าในพื้นที่อื่น ๆ มีพฤติกรรมเช่นนี้หรือไม่ เรื่องนี้สมิธและคณะก็ออกมายอมรับว่า ต้องขยายขอบเขตการศึกษาเรื่องดังกล่าวออกไป เพื่อให้เกิดการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางข้อเสนอ (Strengthen Argument) ว่าสามารถใช้พิจารณาพฤติกรรมสายตาอ้อนวอนนี้ “อย่างทั่วถึง” จริง ๆ
และประการสุดท้าย เป็นเรื่องของพฤติกรรมหรือการกระทำบางที่เหมือนหรือคล้ายกัน แต่จริง ๆ อาจจะ “บ่งชี้เจตนา” หรือ “ส่อนัย” ที่จะกระทำต่างกัน อาทิ ในโลกสมัยโบราณ “การยิ้ม” ไม่ได้ส่อนัยว่าผู้นั้น “ทักทายอย่างเป็นมิตร” แต่กลับส่อนัยว่า ผู้นั้น “จ้องจะเล่นคุณ” ด้วยอาวุธปืนหรือของมีคม
การทำสายตาอ้อนวอนของสุนัขก็เช่นเดียวกัน การทำเช่นนี้ของสุนัขบ้าน อาจจะหมายความว่า พวกเขาเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์จริง ๆ และทำเพื่อส่อนัยการอ้อนวอนจริง ๆ ซึ่งแตกต่างจากสุนัขป่าที่ใช้เพื่อการส่งสัญญาณหรือสื่อสารเพื่อการล่า
เมื่อมาถึงตรงนี้ ย่อมเห็นได้ชัดว่า ข้อเสนอทางวิทยาศาสตร์กายภาพ เป็นเรื่องที่สามารถหาข้อโต้แย้งมาหักล้างกันได้เรื่อย ๆ อยู่ที่ว่า ฝ่ายใดจะ “ให้เหตุผลสนับสนุน (Justification)” ได้อย่างแนบเนียนกว่ากัน
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
บทความ Evolution of facial muscle anatomy in dogs
บทความ Adaptations to sociality in the mimetic and auricular musculature of the African wild dog (Lycaon pictus)