รีเซต

จะนะ : เมื่อรัฐต้องการแปรท้องทะเลสมบูรณ์เป็น "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า"

จะนะ : เมื่อรัฐต้องการแปรท้องทะเลสมบูรณ์เป็น "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า"
บีบีซี ไทย
29 พฤษภาคม 2563 ( 07:47 )
164
จะนะ : เมื่อรัฐต้องการแปรท้องทะเลสมบูรณ์เป็น "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า"

 

"ตอนนี้กำลังปล่อยเบ็ดอยู่ ประมาณ 13 เมตร ปกติเราวาง 7-8 เมตร" บังเหด พูดพลางโยนเบ็ดที่ติดเหยื่อไว้ตรงปลายลงทะเลทีละอัน ๆ อย่างคล่องแคล่ว

"ปลานักล่ามันต้องกินเหยื่อเคลื่อนไหว รู้จังหวะของมัน" ปลาตัวขนาดเท่าฝ่ามือที่เบียดแน่นอยู่ในถังพลาสติกสีขุ่นถูกจับมาตั้งแต่ค่ำเมื่อวาน ตายังใสแจ๋วตอนถูกบังเหดเอาเบ็ดเจาะทะลุหัว ก่อนจะลงไปดิ้นกลางน้ำตามประสาปลาเล็กที่เป็นเหยื่อรอปลาใหญ่ตะครุบ

 

นายบ่าว ยะมันยะ หรือบังเหด ลงเรือออกทะเลไปกับพ่อและแม่ตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียนชั้น ป.1 สั่งสมประสบการณ์ทำประมงพื้นบ้านมายาวนานทั้งชีวิต วันนี้เจะรอนิง ลูกชาย กำลังทำอย่างเดียวกัน

 

"เราต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ต้องรู้ว่าเวลากี่ค่ำน้ำไหล" เสียงคนเล วัย 60 ปี อธิบายแข่งกับเสียงเครื่องยนต์เรือหาปลาที่จอดลอยลำ เบื้องหลังที่เห็นไกล ๆ คือบ้านหลังเล็ก ๆ ของเขาและชาวประมงพื้นบ้านที่ทำมาหากินไม่ห่างจากชายฝั่ง

 

อุปกรณ์หาปลาของบังเหดคือตะขอเบ็ดแหลมโค้งผูกติดอยู่กับเชือกไนล่อน แขวนเรียงรายข้างลำเรือ กว่า 500 อัน เช้านี้เจะรอนิงขับเรือออกมาตั้งแต่ตีห้าครึ่ง

การทำประมงเป็นอาชีพที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ของปู่ "สมัยที่ว่าเขาเอาปลาไปแลกข้าว เขาแบกกัน เมื่อก่อนเขาไม่มีรถ คนไปมาหาสู่กัน เขาเป็นห่วงกัน เขาไม่เอาเปรียบกัน เขาช่วยเหลือกัน ถามว่าบ้านเรามีไหมแบบนั้น ก็ยังมีอยู่"

 

แต่วันนี้ท้องทะเลที่บรรพบุรุษเคยพึ่งพิงได้ถูกลากโยงเข้าไปอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจที่รัฐบาลมีแผนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งอุตสาหกรรมหนักและท่าเรือน้ำลึก

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา เพิ่มจาก 3 อำเภอเดิม คือ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562

 

สงขลาจะกลายเป็น "เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" แต่นายรุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ กลับห่วงว่าอนาคตของชาวบ้านจะก้าวถอยหลัง

"ถ้าโครงการจะเกิด คุณต้องให้ชุมชนเติบโตไปกับอุตสาหกรรมของคุณ ไม่ใช่คุณเติบโต แต่ชาวบ้านต่ำลง ๆ"

 

เขาเคยเดินทางไปดูพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหลายครั้ง และเห็นว่าการล้มผังเมืองเดิมเพื่อกำหนดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กับปัญหามลพิษที่เกิดขึ้น คือตัวอย่างที่จะเกิดกับ อ.จะนะเป็นลำดับต่อไป

 

"ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นจะสู้จนถึงวินาทีสุดท้าย อย่างน้อยที่สุด ถ้าทำอะไรไม่ได้ อย่างน้อยที่สุดก็จะให้คนจะนะ และคนทั้งโลกได้รู้ว่าเราเคยสู้มาแล้ว อย่างน้อยก็อย่าให้เป็นตัวอย่างที่อื่น ให้ดูผลเสียที่จะเกิดกับจะนะเป็นตัวอย่าง…ผมไม่ได้ปฏิเสธ ผมเข้าใจการพัฒนา แต่คุณต้องไม่ทิ้งเจ้าของฐานทรัพยากร"

 

ปลานักล่า

"ปลาอยู่จนแก่ ปลาอินทรีย์มันแก่แล้ว สุด ๆ แล้ว ไม่ใหญ่กว่านี้แล้ว" บังเหดพูดเนิบ ๆ ขณะช่วยลูกชายลากปลาตัวโตน้ำหนักประมาณ 13 กิโลกรัมขึ้นจากน้ำ ปลานักล่าที่กลายเป็นเหยื่อน่าจะขายที่ตลาดได้ราว 2 พันบาท

 

ยี่สิบกว่าปีก่อน ท้องทะเลจะนะไม่อุดมสมบูรณ์อย่างวันนี้ "เรือพาณิชย์บุกรุกเข้ามา ทั้งปลา ทั้งกุ้ง ทั้งหอย กวาดไปเกลี้ยง"

บังเหดย้อนความทรงจำในยุคที่เรือประมงพาณิชย์เคยเข้ามาจับสัตว์น้ำในพื้นที่ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่งจนทำให้ชาวประมงพื้นบ้านต้องย้ายไปจับปลาในจังหวัดอื่น แต่ต่อมาชาวบ้านรวมตัวกันต่อต้านเรือประมงพาณิชย์ พร้อมหันมาฟื้นฟูท้องทะเลด้วยการสร้างบ้านปลาและปะการังเทียม

 

"ชาวบ้านเอาขวดไปขว้างปา ด่าทอเรือประมงพาณิชย์ เพื่อรักษาหม้อข้าวหม้อแกงของเรา" นายรุ่งเรือง นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะอธิบายถึงพฤติกรรมที่เขาเรียกว่า "เถื่อน โหด" เมื่อหลายสิบปีก่อน

 

ทุกวันนี้ ปลาเก๋า ปลาอินทรีย์ กั้งกระดานที่เคยหายไป กลับมาให้จับอีกครั้ง หลังจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเข้ามาดูแลแบ่งเขตการทำประมงพื้นบ้านที่ชัดเจน ขณะที่กรมประมงช่วยทิ้งปะการังเทียมในช่วงระยะ 2 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ให้เป็นที่อยู่ของปลา นายรุ่งเรืองยืนยันว่าทะเลจะนะวันนี้สมบูรณ์ ปลาและสัตว์น้ำที่จับได้ส่งขายทั้งในและต่างประเทศ

 

"ทะเลมันให้กับเรามาก ถ้าไม่มีทะเล จะเอาอะไรไปเลี้ยงชีพ เลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย เลี้ยงผู้คน ทะเลคือชีวิต" บังเหดเอ่ย สายตาไปทอดไกลไปโดยไร้จุดหมาย

เพราะทะเลคือชีวิต บังเหดจึงไม่เชื่อว่าคนเลอย่างเขาและชาวประมงพื้นบ้านจะอยู่รอดหรือ ได้ประโยชน์จากโรงงานอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

เขาบอกว่าการก่อสร้างโรงงานจะรบกวนที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล ส่วนชาวประมงนั้น "ทำ (งานโรงงาน) ไม่ได้หรอก คือฟันธงเลย ชาวประมงหาเช้ากินค่ำ เขาอยู่กับมันมาตลอด อยู่กับทะเลมาตลอด อย่ามาบอกแบบนั้น ไม่เชื่อ มันไม่สมดุลกัน (มันไม่เข้ากัน)"

 

"เราไม่ได้รบ (ทะเลาะ) กับรัฐบาล แต่เราอยากบอกรัฐบาลว่ายกเว้นเถิด ให้ชาวบ้านทำมาหากิน คือดั้งเดิม คือชายหาดก็สมบูรณ์ อากาศก็บริสุทธิ์อยู่ ทะเลคืออ้ารับเสมอ แต่เราต้องดูแลปกป้องมัน อย่าให้เครื่องมือทำลายมันมา"

 

เกือบเที่ยงวัน เรือหาปลาลำเล็กสีฟ้ากลับถึงฝั่ง ปลาอินทรีย์ตัวใหญ่ที่จับได้กับตัวขนาดย่อมอีกสองตัว และปูทะเลอีกจำนวนหนึ่งคือรายได้ของบังเหด ภรรยา กับลูกอีก 7 คนในวันนี้ และท้องทะเลสีครามจะยังคงเป็นที่ทำกินในวันต่อ ๆ ไปจนกว่าการพัฒนาจะมาถึง

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง