รีเซต

ไทยไม่ห่างไกล “วัณโรค” มัจจุราชเชื้อทนทาน ป่วยแล้วกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

ไทยไม่ห่างไกล “วัณโรค” มัจจุราชเชื้อทนทาน ป่วยแล้วกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
TNN ช่อง16
30 กรกฎาคม 2567 ( 14:51 )
7
ไทยไม่ห่างไกล “วัณโรค” มัจจุราชเชื้อทนทาน ป่วยแล้วกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

องค์การอนามัยโลก จัดประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศ กลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคสูง จากการรวบรวมสถิติของกองวัณโรค กรมควบคุมโรค พ.ศ. 2566 พบว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำทั้งคนไทยและไม่ใช่คนไทย ขึ้นทะเบียนรักษา จำนวน 78,955 ราย


 พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช ระบุว่าวัณโรค (TB) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis เกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย โดยร้อยละ 80 ติดเชื้อที่ปอด ซึ่งสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย ส่วนวัณโรคนอกปอด อาจพบได้ในอวัยวะอื่น ๆ เช่น เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบประสาท เป็นต้น 


“เมื่อผู้ป่วยวัณโรคปอด หลอดลม หรือกล่องเสียง ไอ จาม ทำให้เกิดละอองฝอยฟุ้งกระจาย  ผู้ใกล้ชิด สูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไปสู่ถุงลมในปอด ทำให้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อวัณโรคอาจมีชีวิตอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ในห้องที่ทึบอับแสง หากเสมหะที่มีเชื้อตกลงสู่พื้นที่ที่ไม่มีแสงแดดส่อง เชื้ออาจอยู่ได้ในเสมหะแห้งได้นานถึง 6 เดือน”   พญ.พวงรัตน์กล่าว


อย่างไรก็ตาม  วัณโรค ไม่ติดต่อ โดยการจับมือ การทานอาหารหรือน้ำร่วมกัน การใช้ห้องน้ำร่วมกัน การใช้แปรงสีฟันร่วมกันหรือการจูบ 


คนที่สูดหายใจนำละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าสู่ทางเดินหายใจ จะทำให้เกิดการติดเชื้อเพียงร้อยละ 30 ของผู้ได้รับเชื้อ และเพียงร้อยละ 10 ของผู้ที่มีการติดเชื้อในร่างกายที่จะเป็นโรคตั้งแต่ช่วงแรกของการติดเชื้อ 


ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 จะเป็นวัณโรคแฝง คือ ไม่มีอาการและไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้  โดยทั่วไปแล้วถ้าไม่ได้รับการรักษา โดยภาวะที่ร่างกายแข็งแรงดี เชื้อที่เข้าไปจะซ่อนตัวอยู่เงียบ ๆ โดยไม่ทำให้เกิดอาการของโรค และเมื่อสุขภาพอ่อนแอลง เชื้อที่สงบนิ่งอยู่ก็จะออกมาทำให้เกิดอาการของโรคได้ โดยร้อยละ 50 จะแสดงอาการออกมาใน 2 ปีแรกของการติดเชื้อ

พญ.พวงรัตน์ เปิดเผยอาการสำคัญของวัณโรค ประกอบไปด้วย  ไอเรื้อรัง มากกว่า 3 สัปดาห์ ไอมีเลือดหรือเสมหะปน , เจ็บหน้าอก, น้ำหนักลด เบื่ออาหาร , มีไข้ เหงื่อออกผิดปกติตอนกลางคืน  


สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อวัณโรค  ได้แก่ กลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคปอด ผู้ต้องขังในเรือนจำ   บุคลากรสาธารณสุข   แรงงานข้ามชาติและแรงงานเคลื่อนย้าย ผู้อาศัยในที่คับแคบแออัด ชุมชนแออัด  ผู้ป่วยโรคร่วมต่าง ๆ ที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำ เช่น HIV เบาหวาน ทานยากดภูมิต้านทาน เป็นต้น 


 ทำไงดี ฉันจะติดวัณโรคไหมนะ?


หากมีอาการที่สงสัยวัณโรค เช่น ไอเรื้อรัง ไข้ เหงื่อออกผิดปกติตอนกลางคืน หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบพบแพทย์และรับการตรวจรักษาทันที  สำหรับบุคคลที่สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคปอดควรเข้ารับการตรวจสุขภาพและถ่ายภาพรังสีทรวงอก   ตรวจสุขภาพร่างกายและถ่ายภาพรังสีทรวงอก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ 



เมื่อฉันติดวัณโรค ควรทำตัวอย่างไรดี? 


สำหรับผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้ 


- รับประทานยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ต่อเนื่อง และเฝ้าสังเกตผลข้างเคียงขอยา 

- ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง 

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ 

- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงยาที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับอักเสบ  

- ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ในระหว่างการรักษาวัณโรค 


เพื่อป้องกันผู้อื่น หรือ บุคคลใกล้ชิดรับเชื้อ ผู้ป่วยควร แยกห้องกับคนในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 สัปดาห์แรก ไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศ ควรเป็นห้องที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก  จัดบ้านและสถานที่ทำงานให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงแดดส่องถึง  สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2 สัปดาห์แรก บ้วนเสมหะลงในภาชนะหรือกระปุกที่มีฝาปิดมิดชิด และนำทิ้งโดยผูกปากถุงให้สนิท  และ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัด 


ป่วย “วัณโรค” เมื่อไรถึงจะหยุดการแพร่เชื้อ 


โดยปกติผู้ป่วยวัณโรคปอดที่ไม่ดื้อยาจะหยุดการแพร่เชื้อเมื่อมี 3 ข้อ ดังนี้ 


1. หลังรับประทานยา แล้วมีอาการดีขึ้น เช่น ไข้ ไอลดลง เสมหะลดลง 

2. รับประทานยาต้านวัณโรคสูตรเหมาะสม ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ 

3. ผู้ป่วยที่มีผลเสมหะยอมสีทนกรดให้ผลเป็นบวก จะต้องมีผลเสมหะย้อมสีทนกรดเป็นลบอย่างน้อย 3 ครั้ง 


“ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการป่วยเป็นโรควัณโรคหรือไม่ แนะนำให้เข้ามาพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจวิฉัยหรือทำการรักษาให้ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป”   พญ.พวงรัตน์ กล่าว 



ข้อมูลจาก: โรงพยาบาลนวเวช

ภาพจาก: GETTY IMAGES 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง