รีเซต

วัณโรคเทียม ไม่ใช่วัณโรค แต่อาการคล้าย รู้จักสาเหตุ อาการ แนวทางรักษา

วัณโรคเทียม ไม่ใช่วัณโรค แต่อาการคล้าย รู้จักสาเหตุ อาการ แนวทางรักษา
TNN ช่อง16
16 ตุลาคม 2567 ( 20:42 )
26

นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงว่า วัณโรคเทียม (NTM) ไม่ใช่วัณโรค (TB) เป็นโรคติดเชื้ออีกชนิดหนึ่งที่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน เกิดจากเชื้อ Nontuberculous mycobacteria ซึ่งเป็นเชื้อคนละชนิดกับที่ทำให้เกิดวัณโรคในคน (Mycobacterium tuberculosis : TB) โดยเชื้อวัณโรคเทียม (NTM) เป็นแบคทีเรียที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม กระจายตัวอยู่ในธรรมชาติทั้งในดินและน้ำ มีมากกว่า 140 สายพันธุ์ 


การติดเชื้อวัณโรคเทียมในคนอาจเกิดได้จากหลายช่องทาง เช่น 

- จากการสูดดมหรือหายใจเอาเชื้อเข้าไป

- จากการสัมผัสทางบาดแผลที่ผิวหนัง

- การปลูกต้นไม้

- การดื่มน้ำ หรืออาบน้ำที่มีเชื้อ NTM ปะปนอยู่ 

เป็นต้น 


เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อวัณโรคเทียมอาจใช้เวลานานกว่าจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ ดังนั้นผู้ติดเชื้ออาจไม่ทราบว่า ได้รับเชื้อตั้งแต่เมื่อไหร่ และจากที่ใด แต่ในคนปกติ เมื่อหายใจเอาเชื้อวัณโรคเทียมเข้าไป จะไม่ก่อให้เกิดโรค แต่สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ที่มีโรคปอดอยู่แล้วเท่านั้น จึงจะติดเชื้อและก่อให้เกิดโรคได้ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้สูงอายุ ผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค โดยการติดเชื้อนี้จะมีผลต่อการเกิดโรคที่บริเวณปอด ต่อมน้ำเหลือง หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งผิวหนัง


ด้าน นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยวัณโรคเทียมจะมีอาการคล้ายผู้ป่วยวัณโรค เนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้ ไอเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ เสมหะเป็นเลือด เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหงื่อออกในตอนกลางคืน อ่อนเพลีย นอกจากนี้ยังพบอาการอื่น ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ หรือขาหนีบ ผื่นผิวหนัง ฝี หรือแผลเรื้อรัง เป็นต้น


สำหรับการรักษาให้กินยาปฏิชีวนะ ต้องกินให้ตรงกับเชื้อนั้น ๆ ซึ่งจะสามารถทราบชนิดเชื้อได้จากการวินิจฉัยแยกเชื้อ "การเพาะเชื้อ" และตรวจหา "ความไวต่อยา" เพื่อจะได้รู้ว่าเป็น "เชื้อวัณโรคเทียม" ชนิดไหน การรักษาให้ได้ผลอาจให้ยาปฏิชีวนะ 2-3 ชนิด บางครั้งอาจใช้ยาร่วมกับยารักษาวัณโรคด้วย ระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับเชื้อนั้น ๆ


แนะหากสังเกตตัวเองว่ามีอาการต้องสงสัย หรือสงสัยว่าป่วย ควรรีบไปตรวจด้วยการเอกซเรย์ปอดและการตรวจเสมหะ ณ โรงพยาบาลหรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองวัณโรค โทร. 02 212 2279 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


ข้อมูล : กรมควบคุมโรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง