รีเซต

'ดาร์วิน เมาส์' คอมพิวเตอร์จำลองเซลล์สมอง ผลงานสุดล้ำล่าสุดของนักวิจัยเจ้อเจียง

'ดาร์วิน เมาส์' คอมพิวเตอร์จำลองเซลล์สมอง ผลงานสุดล้ำล่าสุดของนักวิจัยเจ้อเจียง
Xinhua
5 กันยายน 2563 ( 19:00 )
82
'ดาร์วิน เมาส์' คอมพิวเตอร์จำลองเซลล์สมอง ผลงานสุดล้ำล่าสุดของนักวิจัยเจ้อเจียง

 

หางโจว, 5 ก.ย. (ซินหัว) -- นักวิจัยในมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีนพัฒนาคอมพิวเตอร์ทำงานคล้ายสมอง (brain-like computer) ที่มีเซลล์ประสาทมากกว่า 100 ล้านเซลล์ ซึ่งเป็นเครื่องแรกของจีนในสาขาคอมพิวเตอร์ประเภทนี้

มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงและจือเจียงแล็บ (Zhejiang Lab) ร่วมกันเปิดตัวคอมพิวเตอร์พัฒนาใหม่ล่าสุดที่ชื่อว่า "ดาร์วิน เมาส์" (Darwin Mouse)

 (แฟ้มภาพซินหัว : การประชุมสาธิตการทำงานของคอมพิวเตอร์คล้ายสมองในห้องปฏิบัติการในมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2020) 

 

จูซื่อเฉียง ผู้อำนวยการจือเจียงแล็บ กล่าวว่า อุปกรณ์ไฮเทคเครื่องนี้ประกอบด้วยชิปดาร์วินที่ทำงานคล้ายสมองรุ่นที่สอง 792 ชิ้น ซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง รองรับเซลล์ประสาทแบบยิงกระตุ้น (spiking neurons) 120 ล้านเซลล์ และจุดประสานประสาทหรือไซแนปส์ (synapses) เกือบ 1 แสนล้านเซลล์ ซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนเซลล์ประสาทในสมองของหนู การใช้พลังงานโดยเฉลี่ยของคอมพิวเตอร์อยู่ที่ 350-500 วัตต์

 

พานกาง หัวหน้าทีมวิจัยจากคณะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเจ้อเจียง กล่าวว่า "เราได้รวมชิปประมวลผลที่ทำงานคล้ายสมอง 792 ชิ้นมาไว้ในเคสเซิร์ฟเวอร์มาตรฐาน 3 ตู้เหมือนการต่อบล็อก เพื่อสร้างคอมพิวเตอร์แบบยึดตู้แร็คที่ทรงพลัง"

 

ขณะเดียวกัน ทีมงานยังได้พัฒนาระบบปฏิบัติการที่ออกแบบมาสำหรับคอมพิวเตอร์คล้ายสมองโดยเฉพาะ ชื่อว่า ดาร์วิน ออส (Darwin OS) ซึ่งทำให้มีการบริหารและกำหนดเวลาทรัพยากรฮาร์ดแวร์ที่ทรงประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนการทำงานและการใช้งานของคอมพิวเตอร์คล้ายสมองด้วย

 

  (แฟ้มภาพซินหัว : โชว์การทำงานของคอมพิวเตอร์คล้ายสมองที่สามารถสั่งการหุ่นยนต์หลายตัวในการประสานงานต้านภัยน้ำท่วมและกู้ภัยในห้องปฏิบัติการในมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2020)

 

นักวิจัยกล่าวว่าการทำงานของคอมพิวเตอร์คล้ายสมองนั้น หมายถึงการใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์จำลองโครงสร้างและกลไกการทำงานของเครือข่ายประสาทของสมอง และสร้างกระบวนทัศน์ทางปัญญาประดิษฐ์ใหม่ เป็นสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวิธีสำคัญที่จะแก้ปัญหาการประมวลผลที่ซับซ้อนในสาขาต่างๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์

 

พานกล่าวเพิ่มเติมว่าคอมพิวเตอร์ที่ทำงานคล้ายสมองนี้สามารถปฏิบัติภารกิจอัจฉริยะได้หลายอย่าง เช่น สั่งการหุ่นยนต์หลายตัวในการประสานงานต้านภัยน้ำท่วมและกู้ภัย จำลองบริเวณต่างๆ ของสมองและสร้างเครื่องมือจำลองขนาดใหญ่ที่รวดเร็วขึ้นสำหรับการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ ยังสามารถสั่งการ "การพิมพ์ด้วยความคิด" ผ่านการถอดรหัสคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) แบบเรียลไทม์ได้อีกด้วย

 

  (แฟ้มภาพซินหัว : โชว์การทำงานของคอมพิวเตอร์คล้ายสมองที่สามารถสั่งการ "การพิมพ์ด้วยความคิด" ในห้องปฏิบัติการในมณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2020)

 

"เมื่อเราจำลองสมองของมนุษย์ เราจะเข้าใจหลักการทำงานของส่วนต่างๆ ในสมองได้ ซึ่งจะช่วยรักษาโรคทางสมองบางชนิดที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ด้วยวิธีการทางชีวการแพทย์" พานกล่าว "ในอนาคต คอมพิวเตอร์ที่ทำงานคล้ายสมองจะมีแนวโน้มถูกนำมาใช้งานกว้างขึ้น ซึ่งรวมถึง 3 สาขาหลักอันได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ วิทยาศาสตร์สมอง และโรคทางสมอง"

"คาดว่าคอมพิวเตอร์คล้ายสมองจะกลายเป็นรูปแบบของคอมพิวเตอร์ที่สำคัญในอนาคต" อู๋จาวฮุย นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนและอธิบดีมหาวิทยาลัยเจ้อเจียงกล่าว

 

"นี่เป็นความสำเร็จล่าสุดของโครงการวิจัยวิทยาศาสตร์สมองและปัญญาประดิษฐ์ (หรือมีอีกชื่อว่าดับเบิล เบรน โปรเจค-Double Brain Project) โครงการเลียนแบบโครงสร้างและกลไกของสมองนี้ ถูกคาดหมายว่าจะพัฒนาสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์รูปแบบใหม่ที่จะนำไปสู่อนาคต" อู๋กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง