'สะพาน' เก่า 1,000 ปี ในไคเฟิง กว้างเหมือนทางหลวง 8 เลน
เจิ้งโจว, 26 มิ.ย. (ซินหัว) -- คณะนักโบราณคดีของจีนเปิดเผยรายละเอียดของสะพานโบราณที่ขุดพบในเมืองไคเฟิง มณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน โดยตัวสะพานสร้างจากหิน พื้นสะพานกว้าง 30 เมตร ซึ่งดูเหมือนสะพานทางหลวงแปดเลนสมัยใหม่
รายงานระบุว่าสะพานถูกก่อสร้างขึ้นในยุคราชวงศ์ถัง (ปี 618-907) และพาดข้ามแม่น้ำเปี้ยนเหอ ส่วนหนึ่งของคลองต้า อวิ้นเหอ (Grand Canal) หรือคลองใหญ่ ซึ่งเป็นทางน้ำขนาดมหึมาเชื่อมพื้นที่ตอนเหนือและตอนใต้ของจีน
สะพานแห่งนี้กลายเป็นโครงสร้างโดดเด่นของเมืองไคเฟิง เมื่อครั้งเป็นเมืองหลวงของยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ (ปี 960-1127) โดยสะพานตั้งตระหง่านอยู่ใน 6 ราชวงศ์ ก่อนจะจมอยู่ใต้ดินตะกอนจากเหตุน้ำหลากล้นแม่น้ำเหลืองในปี 1642
มีการค้นพบสะพานโดยบังเอิญในปี 1984 และสถาบันวัตถุวัฒนธรรมและโบราณคดีเหอหนานเริ่มขุดสำรวจในปี 2018 ซึ่งโจวรุ่นซาน ผู้ดูแลการสำรวจ เผยว่าแผ่นหินของพื้นสะพานมีความเก่าแก่สืบย้อนกลับถึงยุคราชวงศ์หมิง (ปี 1368-1644)
ทีมสำรวจยังขุดพบวัดยุคราชวงศ์หมิงอันเป็นที่สถิตของเทพารักษ์ปกป้องแม่น้ำ รวมถึงกรุโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมล้ำค่า อาทิ รูปปั้นทองแดงและเหรียญทองแดงที่ถูกแปะแผ่นทองคำ และเครื่องเคลือบลายครามสภาพดีอีกด้วย
โจวเสริมว่าการค้นพบนี้ถือเป็นหลักฐานสำคัญต่อการศึกษาวัฒนธรรมตามลำคลองและอารยธรรมบริเวณแอ่งแม่น้ำเหลืองหรือแม่น้ำหวงเหอ