รีเซต

กพร. แจงปมเหมืองทอง หลังกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนยื่นหนังสือฝ่ายค้าน

กพร. แจงปมเหมืองทอง หลังกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนยื่นหนังสือฝ่ายค้าน
มติชน
14 มีนาคม 2565 ( 13:45 )
60
กพร. แจงปมเหมืองทอง หลังกลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนยื่นหนังสือฝ่ายค้าน

นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากเครือข่ายผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำพิจิตร-เพชรบูรณ์เข้ายื่นหนังสือต่อพรรคร่วมฝ่ายค้าน หลังได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ วิถีชีวิต การประกอบอาชีพ และการต่อสู้คดี โดยมองว่าที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการเพียงแค่ปิดการทำเหมือง แต่ไม่ได้เยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และล่าสุดได้อนุญาตให้เปิดทำเหมืองทองอีกครั้ง โดยไม่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ จึงเรียกร้องให้เพิกถอนการต่ออนุญาตประทานบัตรและใบประกอบโลหกรรมในพื้นที่สัมปทานแปลงใหม่เอาไว้ก่อน จนกว่าจะทำประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EHIA) อย่างครบถ้วน นั้น

 

 

กพร. ขอชี้แจงว่า การต่ออายุประทานบัตรจำนวน 4 แปลง และใบประกอบโลหกรรม ของบริษัท อัคราฯ เป็นกระบวนการพิจารณาอนุญาตตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยการอนุญาตต่ออายุในครั้งนี้เป็นการอนุญาตให้ประกอบกิจการในพื้นที่เดิม ไม่ได้มีการเพิ่มหรือขยายพื้นที่ใหม่แต่อย่างใด ทั้งนี้ ในคราวขอขยายกำลังการผลิตโรงประกอบโลหกรรม ปี พ.ศ. 2555 บริษัท อัคราฯ ได้จัดทำรายงาน EHIA ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว

 

นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้เรียกร้องให้มีการตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่โดยรอบ และจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยเป็นแนวกันชนระหว่างชุมชนกับพื้นที่ทำเหมืองในรัศมีไม่ต่ำกว่า 5 กิโลเมตร ปัจจุบัน บริษัท อัคราฯ ได้ดำเนินการตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่โดยรอบอย่างครบถ้วนแล้ว โดยก่อนการพิจารณาอนุญาตต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ได้มีการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน (Baseline data) ประกอบด้วยข้อมูลพื้นฐานเรื่องดิน ตะกอนดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน คุณภาพอากาศ เสียง และข้อมูลพื้นฐานด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนสำหรับการทำเหมืองและการประกอบโลหกรรม อีกทั้งได้รวบรวมและศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตร โดยมีการตรวจสุขภาพทั่วไป การเก็บข้อมูลตัวอย่างด้านชีวภาพ (Biomarkers)รวมทั้งการถ่ายภาพรังสีปอด เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพของประชาชนจากการทำเหมือง

 

ซึ่งวิธีการเก็บตัวอย่างและการวิเคราะห์ตัวอย่างด้านชีวภาพได้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแล้ว ในเรื่องพื้นที่กันชน กระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำแนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง พ.ศ. 2562 ซึ่งการต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหกรรมของบริษัท อัคราฯ ได้มีการกำหนดแนวพื้นที่กันชนที่มีระยะห่างจากชุมชนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยครบถ้วนแล้ว

 

สำหรับประเด็นขอให้สอบสวนกรณีการอนุญาตให้เปิดเหมืองใหม่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น การต่ออายุประทานบัตรเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการแร่ตามขั้นตอนปกติที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว โดยการกลับมาประกอบกิจการเหมืองแร่ของบริษัท อัคราฯ จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ ทั้ง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 และกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ ซึ่งมีมาตรการที่เหมาะสม รัดกุม และสามารถปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน จากผลกระทบที่อาจเกิดจากการทำเหมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

“ในการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรของบริษัท อัคราฯ คณะกรรมการแร่ยังได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ กพร. แต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมเฝ้าระวังผลกระทบจากการทำเหมืองตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยผู้แทนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการตรวจสอบการประกอบกิจการ พร้อมนี้ กพร. ได้มอบนโยบายและกำชับให้บริษัทฯ ส่งเสริม ช่วยเหลือ และพัฒนาชุมชน เพื่อให้การประกอบกิจการได้รับการยอมรับ มีความสัมพันธ์ที่ดี สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน” นายนิรันดร์กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง