รีเซต

อัครา เฮ! ลุยทำเหมืองต่อ หลังได้รับต่ออายุประทานบัตร-ใบอนุญาตโรงแต่งแร่

อัครา เฮ! ลุยทำเหมืองต่อ หลังได้รับต่ออายุประทานบัตร-ใบอนุญาตโรงแต่งแร่
มติชน
26 มกราคม 2565 ( 12:40 )
79

นายสิโรจ ประเสริฐผล กรรมการบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำชาตรี ในจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ได้รายงานถึงการที่บริษัทได้รับอนุญาตการต่ออายุประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ทองคำและเงิน จำนวน 4 แปลง ออกไปอีก 10 ปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2574 และการได้รับอนุญาตการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม ออกไปอีก 5 ปี โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 18 มกราคม 2570 นั้น บริษัทขอชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

คำขอต่ออายุประทานบัตรทั้งหมดเป็นคำขอที่บริษัทได้ยื่นไว้ตามพระราชบัญญัติแร่ 2510 และพระราชบัญญัติแร่ 2560 ในพื้นที่ประทานบัตรเดิม โดยบริษัทได้ยื่นเอกสารประกอบคำขอเพิ่มเติมตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติแร่ 2560 รวมทั้งได้ดำเนินการตามกรอบนโยบายบริหารจัดการแร่ทองคำและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

บริษัทต้องขอขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรมสำหรับความเชื่อมั่นที่มอบให้ และขอยืนยันว่า ด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานระดับสากล และหลักในการดำเนินธุรกิจที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และให้ความสำคัญกับการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานของบริษัทไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการผลิตทองคำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทยึดหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินงาน มุ่งเน้นส่งเสริมการปฏิบัติงานภายใต้มาตรฐานสากลด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ และปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยมีพันธกิจหลัก ดังนี้

รักษาไว้ซึ่งสถิติการเป็นผู้ประกอบการ “เหมืองแร่ทองคำที่มีความปลอดภัยสูงสุดแห่งหนึ่งในโลก”

ยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ร่วมพัฒนาศักยภาพการผลิตทองคำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตทองคำอย่างครบวงจร

สร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม อาทิเช่น แผนพัฒนาพื้นที่โครงการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญประจำจังหวัด เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน แม้เมื่อเหมืองเสร็จสิ้นการดำเนินงานในอนาคต เป็นต้น

ท่ามกลางวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยอย่างรุนแรง ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการลง และประชาชนต้องถูกเลิกจ้างทำให้สูญเสียซึ่งรายได้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของทุกคนในสังคม บริษัทจึงมุ่งหวังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ไปต่ออย่างแข็งแกร่งผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรีที่ผ่านมา บริษัทได้สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศไทย อาทิเช่น

การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจต่อเนื่องในประเทศไทยเป็นเงินกว่า 32,000 ล้านบาท

-การชำระค่าภาคหลวงกว่า 4,500 ล้านบาท โดยร้อยละ 50 ของค่าภาคหลวงถูกจัดสรรให้แก่หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของเหมืองเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชุมชน

การจ้างงานโดยตรงและผ่านผู้รับเหมาของบริษัท โดยจ่ายค่าตอบแทนกว่า 1,800 ล้านบาท จากการจ้างพนักงานกว่า 1,000 คน ซึ่งร้อยละ 99 เป็นคนไทย และส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่โครงการ เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้า ไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ นอกจากนี้ การจับจ่ายใช้สอยของพนักงานยังเป็นแรงสนับสนุนให้ธุรกิจท้องถิ่นขยายตัวเพิ่มขึ้น

นอกเหนือจากการสมทบเงินเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด บริษัทยังคงให้การสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและกิจกรรมเพิ่มเติมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพ สังคม การศึกษาและศาสนากว่า 400 ล้านบาท ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน และเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้สูงสุด บริษัทจึงตั้งสำนักงานทีมชุมชนสัมพันธ์ในทำเลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างบริษัทและประชาชนเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว โดยบริษัทรู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับความไว้วางใจจากชุมชนจนกลายเป็นหนึ่งในองค์กรแรก ๆ ที่ชุมชนนึกถึงเมื่อต้องการความช่วยเหลือเสมอ อย่างไรก็ตาม บริษัทจะไม่หยุดยั้งพัฒนาหาแนวทางที่จะส่งเสริมให้ความร่วมมือระหว่างบริษัทและชุมชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

บริษัทขอถือโอกาสนี้ยืนยันอีกครั้งว่า บริษัทปฏิบัติทุกอย่างตามกฎหมายและหลักธรรมภิบาลอย่างเคร่งครัด การดำเนินงานของบริษัทไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ซึ่งมีเอกสารวิชาการที่จัดทำโดยคณะบุคคลและหน่วยงานที่เป็นกลางสนับสนุนข้อเท็จจริงนี้เป็นจำนวนมาก อาทิเช่น โครงการตรวจวิเคราะห์ข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่แหล่งแร่ทองคํา จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ของสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งพบว่าค่าการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่บริเวณโครงการไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากพื้นที่อื่นที่อยู่ไกลออกไป และไม่แสดงความสัมพันธ์กับกิจกรรมการทำเหมืองแต่อย่างใด

รวมทั้งรายงานการตรวจสอบและประเมินมาตรฐานของเหมืองแร่ทองคำชาตรีโดยบริษัท แบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (Behre Dolbear International Limited) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบและประเมินการปฏิบัติงานของเหมืองทองทั่วโลกกว่า 100 ปี ที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เลือกให้มาตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทอย่างละเอียดทุกขั้นตอน

โดยผลการประเมินพบว่าการดำเนินงานทุกอย่างของบริษัทปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อให้มั่นใจได้ว่าการดำเนินการของบริษัทปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสูงสุด จึงจัดให้มีการติดตั้งจุดตรวจวัดคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมการตรวจวัดคุณภาพดิน น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน อากาศ ทั้งในพื้นที่โครงการและบริเวณโดยรอบ ด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญและบริษัทชั้นนำระดับโลก

ท้ายนี้ บริษัทขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่พิจารณาข้อเท็จจริงทุกอย่างด้วยความเป็นธรรม และขอขอบคุณกระทรวงอุตสาหกรรมที่อนุญาตการต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้แก่บริษัทเพื่อให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง  ด้วยเชื่อว่าบริษัทจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในการนี้ขอให้มั่นใจว่า บริษัทปฏิบัติทุกอย่างตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการดำเนินงานของบริษัทไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทมุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้เติบโตไปด้วยกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง