รีเซต

'กรมวิทย์' เล็งเพิ่ม 2 วิธีตรวจยืนยันเชื้อโควิด หากผ่าน อย.ตรวจไวเท่า RT-PCR

'กรมวิทย์' เล็งเพิ่ม 2 วิธีตรวจยืนยันเชื้อโควิด หากผ่าน อย.ตรวจไวเท่า RT-PCR
ข่าวสด
7 มีนาคม 2565 ( 16:33 )
62

ข่าววันนี้ 7 มี.ค.65 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงและเทคโนโลยีในการตรวจหาเชื้อปรับปรุงตลอด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ออกแนวทางคำแนะนำการตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับไวรัสโควิดฉบับล่าสุด ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากอีโอซี สธ.แล้ว

 

โดยคำแนะนำที่เปลี่ยนจากเดิม คือ 1.สิ่งส่งตรวจที่เหมาะสมกับการตรวจสารพันธุกรรม คือการเก็บตัวอย่างจากหลังโพรงจมูกหรือน้ำลาย ส่วนสิ่งส่งตรวจที่เหมาะสมกับการตรวจหาแอนติเจน กรณีชุดตรวจแบบ Professional Use คือตัวอย่างหลังโพรงจมูก กรณี Home Use เก็บตัวอย่างจากโพรงจมูกด้านหน้าหรือน้ำลาย แต่ควรเก็บน้ำลายตอนเช้าหลังตื่นนอน เพราะเชื้อจะสะสม เก็บโดยการขากเอาน้ำลายส่วนลึกของลำคอออกมาด้วย งดแปรงฟัน หรือใช้น้ำยาบ้วนปาก งดอาหาร ยาอม ของขบเคี้ยว อย่างน้อย 30-60 นาที

 

ส่วนกรณีเด็กควรดูไม้สวอปที่เหมาะสม ไม่แข็งมาก เพราะจมูกเด็กบอบบาง หรือใช้เก็บน้ำลายก็จะช่วยลดอันตรายจากการแยงจมูก

 

2.การตรวจยืนยัน ซึ่งข้อกำหนดคือ ต้องตรวจหาสารพันธุกรรมได้ขั้นต่ำไม่เกิน 1,000 copies/ml ซึ่งที่ผ่านมามีเพียง RT-PCR ที่ผ่านเกณฑ์ เราจึงใช้เป็นวิธีหลัก แต่ขณะนี้มีเทคโนโลยีอื่น คือ LAMP และ CRISPR ซึ่งเดิมตรวจได้ไม่เกิน 4,000 copies/ml ถือว่าความไวไม่พอ แต่ขณะนี้ก็ระบุว่าสามารถได้ต่ำกว่า 1,000 copies/ml ก็สามารถใช้ได้ แต่จะต้องตรวจ 2 ตำแหน่งได้ด้วย เพื่อเป็นการยืนยันผล ซึ่งการตรวจเหล่านี้ถือว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ ก็ต้องไปยื่น อย.ว่ามีคุณสมบัติ เราจะยอมให้เป็นการตรวจยืนยันอีกวิธี นอกจาก RT-PCR

 

3.การตรวจ ATK ในผู้สัมผัสโรค หากผลเป็นบวก ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง ให้เข้าระบบ HI CI หรือรักษาแบบ OPD หากมีอาการหรือความเสี่ยงอาการรุนแรง จะตรวจสารพันธุกรรม เพื่อส่งรักษาต่อในรพ.หากผลลบ ไม่มีอาการก็กักตัวเอง ตรวจ ATK ซ้ำทุก 3 วันหรือมีอาการ

 

4.การคัดกรองด่านระหว่างประเทศยังใช้ RT-PCR เป็นหลัก แต่อาจพิจารณาใช้การตรวจหาแอนติเจนด้วยเครื่องวิเคราะห์อัตโนมัติ (Machine based assay : MBA) โดย 1 เครื่องตรวจได้ 200 เทสต์ต่อชั่วโมง หรือเครื่องตรวจสารพันธุกรรมที่ตรวจตัวอย่างได้ครั้งละมากๆ และใช้เวลาตรวจไม่นานมาใช้ได้ แต่ตรงนี้ขึ้นกับฝ่ายนโยบายพิจารณาจะนำมาใช้หรือไม่

 

เมื่อถามว่าจำเป็นที่ตรวจ ATK เป็นบวกจะต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ไม่จำเป็น เนื่องจากโอมิครอนไม่ว่า BA.1 หรือ BA.2 ความรุนแรงไม่มาก ต้องถามตัวเองว่า ATK บวกแล้ว เรามีความเสี่ยงทางการแพทย์หรือไม่ เช่น น้ำหนักเยอะ อ้วน เบาหวาน ความดัน ไตวายเรื้อรังระดับ 4 หรือโรคประจำตัวอื่นๆ ปอดที่น่าจะเป็นปัญหา

 

หากผลบวกแล้วกลุ่มนี้ก็ควรพบแพทย์ให้ประเมินอาการว่าตรวจซ้ำ RT-PCR หรือไม่ ไม่จำเป็นต้องไปตรวจซ้ำทุกราย และไม่แนะนำใช้ RT-PCR ไปตรวจเชิงรุกว่าใครติดเชื้อ เพราะต้องใช้พลังในการตรวจและค่าใช้จ่ายสูง ทุกวันนี้เราตรวจไป 20 กว่าล้านเทสต์ เฉลี่ย 2 พันบาท ก็เป็นหมื่นล้านบาท ATK ก็จะช่วยได้

 

ยิ่งคนไปมีความเสี่ยงมาก็ใช้ ATK ตรวจได้ เราจะตรวจ RT-PCR เฉพาะมีความเสี่ยงทางการแพทย์และเข้ารักษาในรพ. ซึ่งปัจจุบัน RT-PCR อยู่ที่ประมาณ 900 บาท ส่วน LAMP หรือ CRISPR ก็อาจจะถูกลงเหลือ 400-500 บาท แต่ก็ไม่ได้แนะนำว่าจะต้องไปตรวจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง