รีเซต

ศึกษาพบต้นกำเนิดจีโนมผู้อยู่อาศัยใน 'ซินเจียง' รุ่นแรกสุด เก่าแก่ 9,000 ปี

ศึกษาพบต้นกำเนิดจีโนมผู้อยู่อาศัยใน 'ซินเจียง' รุ่นแรกสุด เก่าแก่ 9,000 ปี
Xinhua
5 พฤศจิกายน 2564 ( 12:08 )
48
ศึกษาพบต้นกำเนิดจีโนมผู้อยู่อาศัยใน 'ซินเจียง' รุ่นแรกสุด เก่าแก่ 9,000 ปี

 

ฉางชุน, 5 พ.ย. (ซินหัว) -- ทีมนักวิจัยชาวจีนและชาวต่างชาติ นำโดยมหาวิทยาลัยจี๋หลินของจีน ค้นพบว่าผู้อาศัยรุ่นแรกสุดในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มีต้นกำเนิดจีโนม (genome) หรือข้อมูลทางพันธุกรรมที่สืบย้อนความเก่าแก่ได้ราว 9,000 ปี

 

การศึกษาของคณะนักวิจัยได้ระบุประชากรท้องถิ่นที่มีการแยกทางพันธุกรรม (genetic isolation) ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่กว้างใหญ่ตอนกลางและตะวันออกของที่ราบยูเรเซียเมื่อประมาณ 9,000 ปีก่อน

 

การค้นพบดังกล่าวอิงข้อมูลทางพันธุกรรมที่เก็บรวบรวมจากมัมมี่ 5 ร่างที่พบในแอ่งจุ่นก๋าเอ่อร์ของซินเจียง และอีก 13 ร่างในแอ่งทาริมของวัฒนธรรมเสี่ยวเหอ โดยมัมมี่ทั้งสองกลุ่มจัดเป็นซากมนุษย์เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบจากแถบตอนเหนือและใต้ของซินเจียง

 

คณะนักวิจัยพบหลักฐานโปรตีนนมในหินน้ำลายของกลุ่มมัมมี่ทาริมจากแหล่งโบราณคดีเสี่ยวเหอ ซึ่งสะท้อนว่าพื้นที่ดังกล่าวพึ่งพาการเลี้ยงโคนมตั้งแต่การมาถึงของผู้อาศัยกลุ่มแรก

 

ทั้งนี้ วัฒนธรรมเสี่ยวเหอเป็นที่รู้จักทั่วโลกจาก "เจ้าหญิงแห่งเสี่ยวเหอ" มัมมี่หญิงสภาพดีที่พบในทะเลทรายทากลามากันบริเวณแอ่งทาริม โดยใบหน้าบางส่วนของเธอมีลักษณะคล้ายคลึงชาวตะวันตก อาทิ โหนกแก้มสูง ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าบรรพบุรุษของผู้อาศัยชาวซินเจียงยุคแรกสุดอาจเป็นผู้อพยพ

 

อนึ่ง การศึกษาดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ทางออนไลน์ในวารสารเนเจอร์ (Nature)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง